ชงนบข.เคาะแผนนาปรัง ลดพื้นที่หลังน้ำเค็มหนุน

ชงบิ๊กตู่ ประธาน นบข. เคาะแผนรับมือภัยแล้ง-ลดพื้นที่นาปรัง คาด “น้ำเค็มหนุน” อีกรอบ 11-14 ก.พ.นี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในวันที่ 10 ก.พ.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) คาดว่าจะมีการเสนอประเด็นการบริหารจัดการน้ำช่วงภัยแล้ง

และสถานการณ์ปัญหาน้ำเค็มหนุนสูงจนส่งผลกระทบต่อการปลูกข้าวนาปรังต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน นบข. รับทราบ

สำหรับแผนเพาะปลูกข้าวนาปรังปี 2564 ทั้งประเทศ 1.90 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 4.261 ล้านไร่ แยกเป็นเพาะปลูกในแผน 1.627 ล้านไร่ คิดเป็น 86% ของแผน และเพาะปลูกนอกแผน 2.634 ล้านไร่ ในลุ่มเจ้าพระยา กรมชลประทานได้รณรงค์ลดการทำนาต่อเนื่องในฤดูแล้ง ปี 2563/2564

หรือไม่ให้มีการทำนาเลย ส่วนการเพาะปลูกข้าวนาปีปี 2563 ทั่วประเทศ แผนเพาะปลูกข้าวนาปี 16.79 ล้านไร่ ปลูกแล้ว 14.45 ล้านไร่ คิดเป็น 86% ของแผน เก็บเกี่ยวแล้ว 14.02 ล้านไร่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แผนเพาะปลูกข้าวนาปี 8.1 ล้านไร่ ปลูกแล้ว 6.39 ล้านไร่ คิดเป็น 79% ของแผน เก็บเกี่ยวแล้ว 6.35 ล้านไร่

Advertisment

สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2563/2564 ทั้งประเทศ 1 พ.ย. 63-30 เม.ย. 64 วางแผนการจัดสรรน้ำรวม 17,122 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 7,946 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 46% ของแผน

เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา วางแผนการจัดสรรน้ำรวม 4,000 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,290 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 57% ของแผน ด้านลุ่มน้ำแม่กลอง วางแผนจัดสรรน้ำรวม 3,000 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 624 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 21% ของแผน

นายสุเทพ คงมาก อดีตนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเค็มหลายพื้นที่ ไม่ใช่แค่พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา

บางพื้นที่ส่วนมากจำเป็นต้องใช้น้ำจากเขื่อนเท่านั้น ซึ่งทางสมาคมจะประสานไปยังกระทรวงเกษตรฯ เพราะทราบว่ากรมชลประทานขอความร่วมมือให้ลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังปี 2564 พร้อมกันนี้ ทางสมาคมจะเสนอที่ประชุม นบข. พิจารณาวงเงินเพิ่มเติมสำหรับประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอีกด้วย

Advertisment

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำว่า จากการคาดการณ์ในช่วงวันที่ 11-14 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ จะเกิดสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้ง ทางกรมจึงได้สั่งการให้โครงการชลประทาน ประตูระบายน้ำ รวมถึงอาคารชลประทานที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา งดรับน้ำเข้าพื้นที่เพื่อเป็นการป้องกันน้ำเค็มเข้าสู่พื้นที่การเกษตร

“สถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนเพิ่มสูงขึ้น ได้ทำการปิดประตูระบายน้ำปากคลองจินดา

เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มรุกเข้าไปในคลอง ในส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาได้วางมาตรการแก้ไขปัญหาความเค็ม ด้วยการปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระรามหก เพื่อควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้สอดคล้องกับระดับการขึ้นลงของน้ำทะเล พร้อมสั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ตอนบน

โดยขอความร่วมมือสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้างดสูบน้ำเข้าพื้นที่ในระหว่างการลำเลียงน้ำลงมายังพื้นที่ตอนล่าง เมื่อค่าความเค็มลดลงจะสูบน้ำเข้าคลองให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ต่อไป แต่ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต”

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด 8 ก.พ. 64 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวม 43,635 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 57% ของความจุอ่างรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 19,705 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 8,544 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 50% ของแผน