3 ปี ร่าง “พ.ร.บ.อ้อย” ไปไม่ถึงไหน เถียงกันวุ่นนิยามน้ำตาล-ส่วนแบ่งรายได้

อ้อย

ลากยาวมากว่า 3 ปี แก้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ล่าสุดกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร เรียกชาวไร่ หน่วยงานเกี่ยวข้อง ถกข้อมูลเริ่มนับหนึ่งใหม่ทั้งชุด ด้าน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล ค้านการเพิ่มนิยามผลพลอยได้ ขัด กม.โรงงาน-ปรับนิยามน้ำตาลใหม่รวมผลิตภัณฑ์อื่น ยังผิดหลักธุรกิจ พร้อมขอให้คงข้อกำหนดราคา-ผลตอบแทนตามกฎหมายเดิม

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงาน สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงาน สมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าของการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่ชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ระดมความคิดเห็นเพื่อแก้บางมาตราให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ปัจจุบันนั้นผ่านไปแล้วกว่า 3 ปี ยังไม่มีข้อยุติ แม้ว่าประเทศไทยจะมีการลอยตัวราคาน้ำตาลไปนานแล้ว รวมถึงหลุดพ้นข้อกล่าวหาที่ทางบราซิลฟ้ององค์การการค้าโลก (WTO) ว่า ไทยอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น

โดยล่าสุดเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณา พ.ร.บ.อ้อยฯ ตามญัตติที่ได้เสนอไป และได้ประชุมรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 3-4 ครั้ง นับว่าเป็นทิศทางที่ดีขึ้น แต่ ส.ส.ยังไม่เคยรับทราบข้อมูล และยังไม่เข้าใจระบบการจัดการอ้อย ดังนั้น การชี้แจงเหตุผลของการปรับแก้ พ.ร.บ.อ้อยฯ จึงต้องเริ่มกันใหม่ โดยมี สอน.เข้าไปช่วยชี้แจง

“ก่อนนี้ที่เราแก้กฎหมายกันมา รัฐแก้ตรงส่วนที่เราไปขัด WTO ทำให้เราพ้นข้อกล่าวหา แต่ในภาพรวมมีอะไรที่ต้องแก้มากกว่านั้น เช่น หมวดรายได้ รายจ่าย อื่น ๆ ในรายละเอียดอีกพอสมควร เราพยายามช่วยกันทำให้เสร็จ ในส่วนประเด็นที่โรงงานน้ำตาลขอเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้กฎหมายด้วย เพราะยังมีเรื่องที่นอกเหนือจากที่ ครม.พิจารณาก่อนหน้านี้ ด้วยเรามีทั้งฉบับ ส.ส. ฉบับชาวไร่อ้อย มันมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียผู้มีส่วนร่วมหลายคน จึงเป็นปัญหาหนึ่ง สภาเองก็คงอาจต้องเชิญโรงงานน้ำตาลมานั่งคุยกันด้วย”

ด้านนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) และประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล เปิดเผยว่า สมาคมได้พยายามเรียกร้องให้มีตัวแทนจากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทราย เข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยฯ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

โดยมี นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เป็นประธานคณะกรรมการ เนื่องจากการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะถูกนำมาใช้เพื่อดูแลสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่อยู่ในอุตสาหกรรม รวมถึงโรงงานน้ำตาลซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกของระบบอุตสาหกรรมนี้ และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

“เอกชนกังวลหลายประเด็นในสาระสำคัญของกฎหมาย โดยเฉพาะการเพิ่มเติมคำนิยามผลพลอยได้ โดยให้รวมกากอ้อย กากตะกอนกรอง และเอทานอลรวมอยู่ด้วยนั้นมองว่า เป็นการขัดต่อหลักการ เนื่องจากโรงงานซื้ออ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล ส่วนกากอ้อย และเศษหิน ดิน ทราย และสิ่งสกปรกอื่น ๆ ที่ติดมากับอ้อยไม่สามารถผลิตเป็นน้ำตาลได้

และถือเป็นของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตตามข้อปฏิบัติของ พ.ร.บ.โรงงาน ซึ่งเป็นภาระที่โรงงานต้องลงทุนเพื่อกำจัดของเสียดังกล่าว โดยนำกากอ้อยไปเผาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า หรือทำภาชนะบรรจุภัณฑ์ จะมีเพียงโรงงานไม่กี่แห่งที่นำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อย และต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก”

อีกทั้งการเสนอกำหนดคำนิยาม “น้ำตาลทราย” โดยให้หมายความรวมถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ (มิใช่ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย) ที่ผลิตได้จากอ้อย น้ำอ้อย หรือน้ำตาลทรายนั้นขัดกับหลักธุรกิจ เพราะโรงงานที่ผลิตผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น เอทานอล น้ำอัดลม และผลิตภัณฑ์ชีวเคมี เป็นต้น ไม่ได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย และไม่ได้เป็นนิติบุคคลเดียวกับผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล

ส่วนประเด็นการแก้ไขสาระกรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิต และจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าขั้นต้น โดยให้นำส่วนต่างที่เกิดขึ้นไปหักจากราคาขั้นต้นปีถัดไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดนั้น โรงงานน้ำตาลต้องการให้คงข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.ฉบับเดิม ที่ให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายชดเชยส่วนต่างให้โรงงานเช่นเดิม

เนื่องจากรายได้กองทุนเป็นเงินที่จัดเก็บจากชาวไร่อ้อยและโรงงานไม่เกี่ยวข้องกับเงินภาครัฐ อีกทั้งมีการเสนอแก้ไขมาตรา 27 เพื่อให้กองทุนสามารถกู้เงินได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และไม่มีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอีกต่อไป จึงไม่ขัดกับข้อตกลง WTO แต่อย่างใด

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ได้เคยสรุปการแก้ พ.ร.บ.อ้อยฯทั้งฉบับของรัฐบาล โดย ครม., ฉบับขององค์กรชาวไร่/ประชาชน และ ส.ส.ฝ่ายค้าน และยังมีร่างที่เสนอโดยรัฐมนตรี และ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลเองอีกหลายร่าง ไว้ดังนี้ เสนอแก้หรือเพิ่มนิยามคำว่า “อ้อย” “น้ำตาลทราย” (ให้รวม “น้ำอ้อย”) และ “ผลพลอยได้” (ให้รวม “กากอ้อย/กากตะกอนกรอง”) (ในร่างมาตรา 3 และ 4) ซึ่งอาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในการคำนวณส่วนแบ่งผลประโยชน์ ให้รวมน้ำอ้อยและผลพลอยได้อื่น ๆ เข้ามาด้วย

เพิ่มให้รัฐมนตรี 3 กระทรวงผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.นี้ มีอำนาจในการกำหนดกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ เพื่อให้เป็นไปตามร่างพระราชบัญญัตินี้ (จากเดิมที่รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงผู้รักษาการมีอำนาจกำหนดระเบียบเท่านั้น)

เปลี่ยนองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิให้มีความยืดหยุ่นขึ้น (และลดเงื่อนไขที่เคยกำหนดให้ต้องมาจากหน่วยราชการต่าง ๆ) และเพิ่มจำนวนตัวแทนชาวไร่และโรงงาน ทำให้มีสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิต่อผู้แทนชาวไร่และโรงงานเป็น 5 : 7 : 5 และกำหนดให้ผู้อำนวยการกองทุนเป็นเลขานุการโดยตำแหน่ง

ขยายขอบเขตกรอบการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และยังคงที่มาของรายได้ในส่วนที่อาจมาจากเงินอุดหนุนของรัฐบาลไว้เช่นเดิม ข้อสุดท้ายคือกำหนดให้ชาวไร่อ้อยแต่ละรายเป็นสมาชิกสถาบันชาวไร่อ้อยได้แห่งเดียว (รวมทั้งสหกรณ์ด้วย)