อานิสงส์ “โอลิมปิก เวิลด์คัพ”ดันยอดส่งออก “เสื้อกีฬา” โตกระฉูด

แม้ว่าการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มของไทยในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ จะยังคงติดลบ 17% มีมูลค่า 10,505 ล้านบาท แต่สัญญาณการส่งออกในช่วงไตรมาส 2 น่าจะขยับตัวดีขึ้น

จากคำยืนยันของ “นายวสันต์ วิตนากร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฮ-เทค แอพพาเรล จำกัด ผู้ผลิตเสื้อผ้ากีฬาส่งออกที่ใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” มองถึงโอกาสเติบโตแบบ 2 ดิจิต

ปรับตัวรับ “โควิด”

ปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัทหันไปผลิตหน้ากากผ้า ชุด PPE จากเดิมผลิตเสื้อผ้ากีฬา เพื่อทดแทนตลาดต่างประเทศนั้น ซึ่งก็สามารถทำรายได้ให้บริษัทได้อย่างมาก แต่ในปีนี้ปริมาณหน้ากากอนามัยเริ่มมีความเพียงพอ ทำให้การผลิตหน้ากากผ้าลดลง ไม่ได้ผลิต

“ในปีนี้แม้จะมีปัญหาเรื่องของการการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การทำตลาดส่งออกเสื้อผ้ากีฬาของบริษัทยังคงเติบโตอย่างแน่นอน เพราะความต้องการสินค้าในตลาดก็ยังเพิ่มขึ้น การส่งออกและคำสั่งซื้อบริษัทจะมีคำสั่งซื้อล่วงหน้ามา 1 ปี ซึ่งตั้งแต่ต้นปีการค้า การส่งออกก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง”

แนวโน้มยอดขายในปี’64

การทำตลาดและการส่งออกเสื้อผ้ากีฬาของบริษัทปี 2564 นี้ จะขยายตัวเป็นบวก คาดเติบโตประมาณ 13-15% หรือมีมูลค่า 230 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจัยของตลาดต่างประเทศที่ความต้องการเสื้อผ้ากีฬามากขึ้น

หลังจากปีที่ผ่านมากิจกรรม ความต้องการเสื้อกีฬาชะลอตัวหรืออั้นมานาน ส่งผลให้ปีนี้ความต้องการเสื้อกีฬาเพิ่มขึ้น คำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะฐานลูกค้าแบรนด์ดังทางด้านกีฬา

ที่สำคัญ ยังมีปัจจัยการจัดกิจกรรมกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิก ฟุตบอลเวิลด์คัพ ภายในปีนี้ ประกอบกับกิจกรรมกีฬาต่าง ๆ เช่น ยูฟ่า เอ็นบีเอ เป็นต้น

ทำให้ความต้องการสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้ากีฬาในตลาดโดยเฉพาะตลาดต่างประเทศเติบโตเพิ่มขึ้น จากปัจจัยที่กล่าวมาทำให้บริษัทมุ่งทำตลาดต่างประเทศอย่างเต็มที่

“ตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรป สหรัฐ จีน ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของการส่งออกเสื้อผ้ากีฬาของบริษัท ทำให้การส่งออกปีนี้ทั้งปีไม่น่าห่วง เพราะบริษัทเห็นถึงปัจจัยและโอกาสที่เอื้อต่อการส่งออก 3 ปัจจัยสำคัญ

ได้แก่ การค้าออนไลน์ที่มีการเติบโตมากขึ้น ตลาดบริโภคในสหรัฐ ยุโรป กลับมารวมไปถึงจีน มีการเปิดร้านซื้อ-ขายมากขึ้น และกิจกรรมการแข่งขันทางด้านกีฬาเริ่มกลับมา มีผลต่อความต้องการสินค้าสูงขึ้น”

ขยายลงทุนตั้งโรงงาน

จากปัจจัยที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทมองถึงการขยายการลงทุนตั้งโรงงานใหม่ที่เวียดนาม เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยเฉพาะข้อตกลงเขตการค้าเสรี เอฟทีเอ ที่เวียดนามทำกับยุโรป ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นตัวที่ทำให้การส่งออกของบริษัทเพิ่มขึ้น และเห็นผลชัดในทันที

ส่วนโรงงานอีก 3 แห่ง คือ กัมพูชา สปป.ลาวนั้น ก็จะมีการเพิ่มกำลังคนเข้าไปเพื่อรองรับการผลิตที่เติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะกัมพูชา จะเพิ่มกำลังคนให้ได้ประมาณ 2,000 คน

ลุยอัพเกรดเทคโนโลยี

ขณะที่โรงงานที่ประเทศไทยนั้น ซึ่งตั้งอยู่ทั้งภาคกลาง ภาคอีสาน จะเพิ่มเรื่องของเทคโนโลยีให้ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และจะมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ

การนำเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้นี้รวมถึงโรงงานในต่างประเทศด้วย ในช่วงโควิด ในส่วนงานที่ต้องมีการประชุมสั่งงานก็จะสั่งผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์

“ภาพรวมของกำลังการผลิตทั้ง 4 โรงงานของบริษัทดำเนินการอย่างเต็มที่ ไม่ได้มีการลด ซึ่งสอดคล้องไปตามความต้องการของตลาดและคำสั่งซื้อที่เข้ามา”

แนะร่วม CPTPP ฝ่าปัจจัยลบ

ประเทศไทยควรจะเร่งขยายโอกาสทางการค้า การส่งออก โดยเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP เนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าเครื่องนุ่งห่มของไทยยังสูง

ค่าเงินยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม แต่การเพิ่มโอกาสในการแข่งขันนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งทำเพื่อเพิ่มโอกาสการแข่งขันของไทยในตลาดโลก