สวพส.เปิดขาย “เมล็ดกัญชง” ลอตแรก 5,600 กก. แห่จองแล้ว 300 ราย

กัญชง-กัญชา

กัญชงฟีเวอร์ วงการเกษตร อาหาร สินค้าแปรรูปทั้งนิติบุคคล-บุคคลทั่วไปกว่า 300 ราย แห่ซื้อเมล็ดพันธุ์หลังสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดพรีออร์เดอร์ขายลอตแรก 5,600 กิโลกรัม 2 สายพันธุ์แบบโควตาตามเหมาะสม ราคา กก.ละ 200-750 บาท วางกลไก “คณะอนุกรรมการกำหนดแนวทางการควบคุมจำหน่าย” ถึงทั้ง ป.ป.ส.-อย.-กฤษฎีกา-อภ. ร่วมกำกับดูแล คาดคัดกรองหลักเกณฑ์คุณสมบัติอีกรอบก่อนประกาศผล 30 พ.ค.นี้

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สวพส. กล่าวในการเสวนาขั้นตอนและเงื่อนไขวิธีจำหน่ายกัญชง (hemp) พ.ศ. 2564 ว่า หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศ “กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิตนำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง

ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (hemp) พ.ศ. 2563” และ “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563” มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564 ตามนโยบายส่งเสริมกัญชงพืชเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลส่งผลให้ประชาชนสามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองกัญชงได้ โดยส่วนของกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดนั้นประกอบด้วย ใบ เมล็ด (seed และ grain) ราก ลำต้น และสารสกัด CBD ที่มี THCต่ำกว่า 0.2%

“สถาบันได้ศึกษาและวิจัยกัญชงตั้งแต่ปี 2549 จึงพร้อมนำเมล็ดพันธุ์กัญชงมาจำหน่ายให้แก่ทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนบุคคลทั่วไปหรือนิติบุคคลที่มีความสนใจยื่นขอซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้นกว่า 300 ราย ซึ่งสถาบันจะจัดจำหน่ายเมล็ดกัญชงลอตแรกรวม 5,600 กิโลกรัม โดยคัดเลือกตามความเหมาะสมใน 2 พันธุ์ คือ RPF1 ที่เหมาะสำหรับปลูกบนพื้นที่สูงมากกว่า 1,000 เมตร และพันธุ์ RPF3 ที่เหมาะสำหรับปลูกบนพื้นที่สูงระดับ 500-1,000 เมตร”

ได้แบ่งการจำหน่ายเป็น 1.เมล็ดพันธุ์รับรอง (certified seed) จำนวน 3,000 กิโลกรัม โดยจำหน่ายสำหรับเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ราคา 300 บาท/กก. หน่วยงานภาคีร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนา (partnership) หรือหน่วยงานของรัฐ ราคา 400 บาท/กก. และสำหรับบุคคลทั่วไป ราคา 520 บาท/กก.

2.เมล็ดบริโภค (grain) จำนวน 2,600 กิโลกรัม โดยจำหน่ายสำหรับหน่วยงานภาคีร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนา (partnership) หรือหน่วยงานของรัฐ ราคา 250 บาท/กก. และสำหรับบุคคลทั่วไป ราคา 750 บาท/กก. เพื่อสนับสนุนให้เกิดการวิจัย พัฒนาและการทดลองปลูกได้อย่างทั่วถึงและเหมาะสมในประเทศ โดยมีการพิจารณาและกำหนดปริมาณเมล็ดที่จะจำหน่ายให้แก่ผู้ขอซื้อแต่ละราย ตามวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์ (ดูกราฟิก)

สำหรับการจำหน่ายของสถาบันนั้นกำหนดให้มีคณะอนุกรรมการกำหนดแนวทางการควบคุม การจำหน่าย การกำหนดราคาเมล็ดพันธุ์ ส่วนประกอบและผลิตภัณฑ์ของเฮมป์ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงาน ได้แก่ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนมูลนิธิโครงการหลวง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ผู้แทนสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม, ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), ผู้แทนองค์การเภสัชกรรม

เพื่อร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางการจำหน่ายและราคาเมล็ดกัญชงที่เหมาะสมด้วย โดยผู้ขอซื้อสามารถแจ้งความประสงค์ขอซื้อผ่านทางเว็บไซต์ของสถาบันช่วงวันที่ 26 เม.ย.-5 พ.ค. 2564 ภายในวันที่ 30 จะประกาศผู้ที่ได้รับเมล็ดพันธุ์ตามวัตถุประสงค์นั้น ๆ ต่อไป

“เราย้ำจุดประสงค์ คือ การเปลี่ยนแปลงวิจัยมาเป็นการส่งเสริมให้ทุกคนนำไปต่อยอด ดังนั้น แนวทางของเราคือ เราแบ่งเมล็ดพันธุ์ที่เหลือมาจำหน่ายและให้ทดลองกัน เมล็ดพันธุ์ที่มีนี้จะพัฒนาการตลาดที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะตอนนี้มีเพียงกระแสแต่ยังไม่มีตลาดชัดเจน โดยเฉพาะการนำไปประกอบอาหาร ทั้งรูปแบบเมล็ดสารสกัด CBD ที่มีโอเมก้า แต่ย้ำว่าอาหารนั้นอยู่ระหว่างวิจัย

ดังนั้น จะมี 2 ส่วนเฉพาะคนที่จะนำไปปลูกเพื่อเป็นส่วนผสมอาหารที่สามารถพรีออร์เดอร์ไว้ได้ แต่ตอนนี้ต้องรอ อย.ประกาศก่อนจึงจะสามารถนำเมล็ดที่พรีออร์เดอร์ไว้ไปปลูกได้ ส่วนพันธุ์เพื่อปลูกขยายพันธุ์ต่อยังไม่มีนโยบายต้องขอสงวนตรงนี้ ส่วนเพื่อประโยชน์อื่น ๆ แบ่งตามความเหมาะสมและโควตาราคา”

ด้านนางสริตา ปิ่นมณี นักวิจัยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงกล่าวเสริมว่า ส่วนใหญ่กัญชงทั่วไปเป็นพันธุ์พื้นเมือง แต่สถาบันวิจัยพัฒนาพื้นที่สูงมีความพิเศษคือระดับของพื้นที่ซึ่งมีผลต่อการเติบโตได้ดี แต่บางพันธุ์ต้องดูพันธุ์ให้เหมาะสมบางพันธุ์ปลูกได้แค่ภาคเหนือ ล่าสุดวิจัยพื้นที่ จ.กำแพงเพชรสามารถปลูกได้ แต่จะมีปริมาณสารเสพติดหรือ THC ต่างกันเล็กน้อยแต่ยังไม่เกิน 1% ซึ่งระดับยังอยู่ภายใต้กฎหมาย

ปัจจุบันสายพันธุ์กัญชงที่ได้ขึ้นทะเบียนรับรองจากกรมวิชาการเกษตรจากใยกัญชงอุตสาหกรรมครัวเรือนที่มีมานานอยู่ระหว่างวิจัยโดยมีการพัฒนาพันธุ์กัญชงมีจำนวนเพียง 4 พันธุ์ คือ RPF1, RPF2, RPF3 และ RPF4 สำหรับการปลูกเพื่อผลิตเส้นใย

โดยทุกพันธุ์ที่มีปริมาณสารเสพติด (THC) 0.2% ซึ่งต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดมีเปอร์เซ็นต์เส้นใย 12-14.7% และมีปริมาณสารที่เป็นประโยชน์ (CBD) 0.8-1.2% และพันธุ์ดังกล่าวจัดเป็นเมล็ดพันธุ์รับรองตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 เฉพาะเฮมป์ พ.ศ. 2559