“บ้านปู” เปิดโรงไฟฟ้า “นาโกโซ IGCC” ในญี่ปุ่น ลุยธุรกิจสหรัฐ จีน เวียดนาม

บ้านปู เดินหน้าลุยธุรกิจผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่น เปิดตัวโรงไฟฟ้านาโกโซ IGCC ร่วมพาร์ทเนอร์มิตซูบิชิ งบ 2,500 ล้าน พลังงานรูปแบบใหม่ มั่นใจรับรู้รายได้ไตรมาส 2 ทันที พร้อมเดินหน้าเจรจาลงทุนสหรัฐ จีน เวียดนาม ต่อเนื่อง

วันที่ 29 เมษายน 2564 นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยว่า บริษัทประสบความสำเร็จในการลงทุนในโรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso IGCC) ณ จังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) แห่งใหม่ล่าสุดเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้บ้านปู เพาเวอร์สามารถขยายกำลังผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่นให้เติบโตขึ้นถึง 128 เมกะวัตต์ในระยะเวลา 1 ปี โดยมาจากการ COD โรงไฟฟ้า 2 แห่งเมื่อปลายปี 2563 พร้อมเตรียมเดินหน้า COD โครงการโรงไฟฟ้าอีก 2 แห่งตามแผนในปี 2564 ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์  เคนเซนนุมะ (Kesennuma) กำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ และชิราคาวะ (Shirakawa)กำลังผลิต 10

สำหรับ โรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso IGCC) ณ จังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ขนาด 543 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีผสมผสานในการแปลงสถานะถ่านหินให้กลายเป็นก๊าซเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า(Integrated Gasification Combined Cycle: IGCC) โดยเป็นการร่วมทุนในบริษัท Nakoso IGCC Management Co., Ltd. (NIMCO) ระหว่าง บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น เพาเวอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น มูลค่าการลงทุนประมาณ 2,500 ล้านบาท โดยบ้านปู เพาเวอร์ ถือหุ้นใน NIMCO ที่สัดส่วนร้อยละ 33.5 โดย NIMCO ถือหุ้นร้อยละ 40 ในโรงไฟฟ้า Nakoso IGCC ส่งผลให้บ้านปู เพาเวอร์มีสัดส่วนการถือหุ้นที่ร้อยละ 13.4 ในโรงไฟฟ้า Nakoso IGCC และมีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 73 เมกะวัตต์ 

สำหรับโรงไฟฟ้านาโกโซ จะสามารถรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 ของปีนี้ทันที  ซึ่งสอดรับกับนโยบายญี่ปุ่นประกาศ ลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกซ์ภายใน 2050 เป็นศูนย์ บริษัทจึงมุ่งมั่นส่งเสริมพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นและญี่ปุ่นยังมีดีมานด์การใช้ไฟฟ้าที่สูงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ nakoso igcc มีความโดดเด่น 1.เป็นโรงไฟฟ้า HELE ที่มีประสิทธิภาพการผลิตพลังงานสูงกว่าระบบเผาไหม้เชื้อเพลิงถ่านหินทั่วไป นั่นหมายถึง จากจำนวนตันของถ่านหินที่ใช้เท่ากัน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น

2.  มีการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อมในระดับต่ำเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าทั่วไป และมีความยืดหยุ่นต่อคุณภาพถ่านหินที่ใช้ในกระบวนการผลิต โดยเทคโนโลยี IGCC สามารถลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SOx), ก๊าซกลุ่มไนโตรเจนออกไซด์ (NOx), และลดการการปล่อยฝุ่นสู่ชั้นบรรยากาศ

“โรงไฟฟ้า Nakoso IGCC ถือเป็นโรงไฟฟ้า IGCC แห่งแรกที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Scale) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น การลงทุนครั้งนี้นับว่ามีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระยะยาว และมีสัญญาจัดหาเชื้อเพลิงระยะยาว รวมถึงได้นำจุดแข็งของแต่ละพันธมิตรมาใช้ในการบริหารโครงการตามโครงสร้างเพื่อกำหนดบทบาทและหน้าที่อย่างชัดเจน “

นายกิรณ กล่าวอีกว่า บริษัทยังคงวางงบประมาณลงทุนเช่นเดิมประมาณ 200-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีทั้งอยู่ระหว่างเจรจาโรงไฟฟ้าก๊าซสหรัฐอเมริกา 2 โครงการ กำลังผลิตประมาณแห่งละ 1,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถดำเนินการเจรจาได้เเล้วเสร็จกลางปีนี้  โดยเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตร ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง พร้อมทั้งเดินหน้ามองหาโอกาสลงทุนประเทศ จีนเวียดนาม  ตามแผนที่วางไว้ เพิ่มกำลังผลิตเป็น 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี 2568  โดยขณะนี้ มีกำลังผลิตในมือ 31 โครงการ กำลังผลิต 2,929 เมกะวัตต์ และ ในส่วนนี้ เดินเครื่องเชิงพาณิชย์  (COD )แล้ว 27 โครงการการ กำลังผลิต 2,823 เมกะวัตต์