หนุน “เส้นใยกัญชง” สินค้าส่งออกดาวรุ่ง

พาณิชย์ชี้โอกาส “เส้นใยกัญชง” สินค้าส่งออกมาแรง คาดมูลค่าตลาดปี’67 ทะลุ 1.04 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ด้านสถาบันสิ่งทอ เผยมีผู้ผลิตแค่ 10 ราย จี้เร่งพัฒนาผู้ประกอบการ-สินค้า-ทดลองตลาด ก่อนลงทุน

นางนิศาบุษป์ วีรบุตร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าไลฟ์สไตล์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากรายงานสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั่วโลกที่ได้ติดตามประเมินสถานการณ์ตลาดกัญชงและกัญชาในต่างประเทศ พบว่า ประเทศที่เปิดเสรีทางการค้ามีจำนวนมาก เช่น แคนาดา อุรุกวัย จอเจีย แอฟริกาใต้ ยุโรป

แต่ทั้งนี้ยังมีกฎหมายและกฎระเบียบที่เข้มงวด ที่ยังไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการทำการตลาด หรือจัดทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่ากฎหมายกำหนด หรือกำหนดให้ส่งออกได้เฉพาะในบางรายการสินค้ากรณียกเว้นหากใช้ในกลุ่มงานวิจัย ผลิตในบางอุตสาหกรรมหรืองานทางการแพทย์ ก็จะอนุญาตให้มีการนำเข้า ส่งออกสารสกัดที่ได้จากกัญชง กัญชาได้

“สิ่งที่น่าจับตาและเป็นโอกาสทางการค้า คือ เส้นใยกัญชง ซึ่งมีการวิเคราะห์ไว้ว่ามูลค่าตลาดในปี 2567 คาดว่าจะสูงถึง 1.04 แสนล้านเหรียญสหรัฐโดยปัจจุบันตลาดที่ครองส่วนแบ่งตลาดเส้นใยกัญชงมากสุด คือ ยุโรป สัดส่วนประมาณ 37.6% รองลงมา คือ สหรัฐ 36.5% ซึ่งประเทศที่มีพื้นที่การเพาะปลูกเส้นใยกัญชงมากที่สุด เช่น จีน แคนาดา สหรัฐ ขณะที่ประเทศที่ใช้เส้นใยกัญชงในการผลิตสินค้า ฉนวนกันความร้อน ผนังกันเสียง เป็นต้น เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ส่วนประเทศที่ผลิตเส้นใยกัญชงและส่งออกไปต่างประเทศ เช่น จีน ฝรั่งเศส เกาหลีเหนือ”

นิศาบุษป์ วีรบุตร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าไลฟ์สไตล์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
นิศาบุษป์ วีรบุตร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าไลฟ์สไตล์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

นางนิศาบุษป์กล่าวว่า ตลาดเส้นใยกัญชงในต่างประเทศมีโอกาสเติบโตอย่างมาก ยังเป็นที่ต้องการของตลาดนำเข้า มีผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่ชัดเจน ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการส่งเสริมการเพาะปลูก แต่ยังไม่ได้ชัดเจนในการส่งเสริมเพาะปลูกต้นกัญชงที่ให้เส้นใยกับสารสกัด เนื่องจากพันธุ์ วิธีการระยะเวลาการเพาะปลูกต่างกัน จะเห็นได้ว่าหากปลูกเพื่อใช้ผลิตเส้นใยกัญชงนั้นใช้ระยะเวลา 90 วัน น้อยกว่ากัญชงที่ผลิตเพื่อเอาสารสกัดซึ่งใช้เวลา 180 วัน

ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นที่ต้องส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้ชัดเจน เพราะเชื่อว่าอนาคตเทรนด์สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นที่ต้องการมากในอนาคต ซึ่งผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมความพร้อมให้มาก

เพราะมีผู้ประกอบการไทยเพียง 10 รายที่ผลิตสินค้าจากเส้นใยกัญชงและส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชนผลิตเพื่อขายในประเทศให้กับนักท่องเที่ยว และยังต้องนำเข้าวัตถุดิบเส้นใยกัญชง

ในส่วนของตลาดกัญชานั้น แม้บางประเทศจะเปิดให้ทำการค้าเป็นส่วนผสมของสินค้าในกลุ่มอาหาร ขนม แต่ยังตามมาด้วยเรื่องของกฎหมายและกฎระเบียบที่มีความเข้มงวด

ทั้งยังทำการค้าข้ามประเทศไม่ได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องของส่วนผสมของสารสกัดที่ได้จากกัญชาซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ THC และ CBD โดยมีคุณสมบัติที่ต่างกัน ผลดีผลเสียต่างกัน ดังนั้น จึงมีการกำหนดปริมาณของสารสกัดไว้ในปริมาณมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เช่น บางประเทศกำหนดว่าจะต้องมีสารสกัดนี้ไม่เกิน 0.3-0.5% เป็นต้น

“จะเห็นว่าแต่ละประเทศก็มีการกำหนดมาตรฐาน กฎระเบียบที่ไม่เหมือนกัน ว่าปริมาณสารสกัดที่ได้จำเป็นต้องมีปริมาณเท่าไร และยังจำกัดห้ามไม่ให้มีการประชาสัมพันธ์ หรือโปรโมตสินค้าหรือขายให้กับเด็กที่อายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการทำตลาดกัญชายังจำกัดจำหน่ายภายในประเทศนั้น ๆ ยังไม่มีการจำหน่ายออกไปต่างประเทศ หรือมีการนำเข้ามาอย่างเสรี แต่จะยกเว้นกรณีที่นำเข้าเพื่องานวิจัย งานทางด้านการแพทย์หรือต้องขออนุญาตอย่างเป็นทางการเท่านั้น ดังนั้น โอกาสที่จะเห็นได้ดีจึงอยู่ในตลาดเส้นใยกัญชงมากกว่า”

นายปิลันธน์ ธรรมมงคล กรรมการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยที่ใช้เส้นใยกัญชงเพื่อผลิตสินค้าเครื่องนุ่งห่ม มีเพียง 10 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือเป็นหลัก ขายภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่และจะนำเข้าผ้าผืนจากเส้นใยกัญชงจากจีน เวียดนาม และ สปป.ลาว มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ทำเองตั้งแต่ต้นโดยการผลิตเส้นใยและทอผ้าด้วยมือ ส่วนใหญ่จะผลิตเป็นสินค้าโอท็อป

“ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องศึกษาตลาดก่อน หากจะดำเนินการผลิตลงทุนเพื่อการส่งออกนั้นอาจเร็วไป เพราะตลาดยังเล็กและส่วนใหญ่เส้นใยกัญชงไทยยังต้องนำเข้า การทอผ้าก็ยังต้องใช้มือ ยังเป็นสินค้าในรูปแบบโอท็อปอยู่ ยังไม่มีโรงงานสิ่งทอที่ใช้เส้นใยกัญชงผลิตแต่อย่างไร ดังนั้น ต้องทำตลาดก่อนให้มีลูกค้า มีความต้องการที่ชัดเจนถึงความจำเป็นที่จะลงทุนเครื่องจักรเพื่อการผลิต และหากจะดำเนินการส่งเสริมจำเป็นต้องพัฒนาและส่งเสริมตั้งแต่การเพาะปลูก”