นิคมอุตฯ พร้อมฉีดวัคซีน 7 มิ.ย. นำร่องลาดกระบัง

วัคซีน

“กระทรวงอุตสาหกรรม” เผยผลสำรวจ 25 นิคม 13 จังหวัดพร้อม “นิคมลาดกระบัง” รอไฟเขียวจากผู้ว่าฯ เตรียมนำร่องเปิดพื้นที่ฉีด 7 มิ.ย.นี้ ด้านนิคมอุตสาหกรรมเอกชนทั่วประเทศขานรับพร้อมเปิดพื้นที่เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 “WHA สวนอุตสาหกรรม 304” ขออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าในนิคมหลายแสนคน ด้าน “อมตะฯ” เปิดเป็นจุดคัดกรองตรวจเชื้อ 500 คน/วัน ให้แรงงานในนิคมอุตสาหกรรมและชุมชนรอบ ๆ ไม่ขอสิทธิประโยชน์ใดจากรัฐ ขอฝ่าวิกฤตรอบนี้ให้เร็วที่สุด

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะคณะกรรมการบริหารจัดการจุดบริการให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการสำรวจพื้นที่ที่นิคมอุตสาหกรรม พบว่า มีพื้นที่ที่มีศักยภาพและความพร้อมจัดให้บริการฉีดวัคซีน มีทั้งหมด 25 แห่ง 13 จังหวัด (พื้นที่ควบคุมสูงสุด)

วรวรรณ ชิตอรุณ
วรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

โดยเบื้องต้นคาดว่านิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง จะเป็นแห่งแรกที่พร้อมเป็นจุดฉีดวัคซีนได้ภายในวันที่ 7 มิ.ย. 2564 นี้ โดยได้ประสานไปยังโรงพยาบาลนวมินทร์ 9 เป็นแม่ข่ายแล้ว และนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร จ.สมุทรสาคร ที่คาดว่าจะพร้อมเปิดพื้นที่เร็ว ๆ นี้

“การจะประกาศให้แต่ละนิคมเป็นจุดฉีดวัคซีนได้จะต้องผ่านความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน ซึ่งจะพิจารณาจากศักยภาพของพื้นที่นิคม จำนวนโรงงาน พนักงาน แรงงาน ประชาชนโดยรอบ และต้องเข้าเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข เช่น อยู่ห่างจากโรงพยาบาลไม่เกิน 7 นาที เป็นอาคารโปร่ง รองรับจำนวนคนเป็นสเตชั่นหรือเป็นกลุ่ม ๆ ได้”

นอกจากนี้ ยังได้เริ่มสำรวจพื้นที่เขตอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม และนิคมอื่นที่เหลือ เช่น อมตะซิตี้ชลบุรีที่มีความพร้อมและมีโรงพยาบาลวิภารามเป็นแม่ข่าย นิคมอุตสาหกรรม WHA รอประสานงานโรงพยาบาลที่จะมาเป็นแม่ข่ายในการจัดเก็บวัคซีนเพื่อนำมาฉีด

“เรามีทั้งนิคมของ กนอ.และนิคมเอกชนที่มีศักยภาพสูงพอ เราสำรวจและรวบรวมจำนวนแรงงาน กลุ่มเป้าหมายเสนอให้ผู้ว่าฯแต่ละจังหวัดรออนุมัติส่วนอื่น ๆ เราจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำ ไฟ ค่าจ้างบุคลากรที่นำมาบริหารจัดการในพื้นที่ และค่าใช้จ่ายส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ส่วนกลางของนิคม เผื่อต้องนำมาช่วยดูแลบริการในพื้นที่ฉีด แต่นิคมเอกชนเขาต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตรงนี้เอง ซึ่งเราคิดว่าเอกชนพร้อมที่จะช่วยอยู่แล้ว ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโรงงานอยู่ในนิคมทั้งหมดประมาณ 3,300 โรงงาน แรงงานกว่า 860,000 คน”

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ตนได้พยายามที่จะติดต่อทุกช่องทางเพื่อหาวัคซีนโควิด-19 มาฉีดให้กับพนักงานภายในบริษัท และอำนวยความสะดวกให้กับโรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งที่อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม WHA ทั้งนี้ ยังพร้อมจะใช้ทั้ง 11 นิคมของ WHA ทั่วประเทศเป็นจุดฉีดวัคซีน เนื่องจากปัจจุบัน WHA มีจำนวนลูกค้าหลายแสนคน บางโรงงานมีจำนวนพนักงาน 4,000-5,000 คน

จำเป็นที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นและอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าทุกราย สำหรับนิคมอุตสาหกรรม WHA บางแห่งที่เปิดใหม่จำนวนลูกค้ายังไม่มาก อาจใช้รูปแบบการจัดบุคลากรเข้าไปฉีดให้ หรือบางพื้นที่อาจใช้ส่วนกลางของนิคมเป็นจุดบริการจุดเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้ WHA พร้อมและวางแผนเรื่องพื้นที่ไว้แล้ว

นายกิตติพันธ์ จิตต์เป็นธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สวนอุตสาหกรรม 304 จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า เพื่อเป็นการช่วยแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและประชาชนในพื้นที่ บริษัทมีความพร้อมที่จะเปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งในสวนอุตสาหกรรม ทั้งพื้นที่โล่งและพื้นที่ในอาคาร รองรับและให้บริการการฉีดวัคซีนโควิด-19

ซึ่งส่วนแรกหากได้รับคำสั่งหรือขอความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรม ก็สามารถดำเนินการได้ทันที โดยเบื้องต้นคาดว่าจะรองรับให้บริการกับแรงงานในสวนอุตสาหกรรม 304 ทั้งหมดก่อน ซึ่งมีประมาณ 50,000 คน ครอบคลุม 135 โรงงานอุตสาหกรรม และคาดว่าจะสามารถรองรับกับประชาชนทั่วไปได้จนกว่าการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ประสงค์จะฉีดจนครบทั้งหมด

“เราไม่ได้ขอให้รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่าย หรือแลกกับสิทธิประโยชน์อะไร เพราะการช่วยกันครั้งนี้เพื่อที่จะได้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน แน่นอนว่าตอนนี้ทุกคนหวังแค่ขอให้ฉีดวัคซีนได้เร็วที่สุด ซึ่งเราก็พร้อมที่จะช่วยเปิดให้ใช้พื้นที่ได้ ซึ่งตอนนี้เรื่องค่าใช้จ่ายการฉีดวัคซีนแต่ละบริษัท โรงงานในนิคมเขารับผิดชอบกันเอง แต่ก็ต้องเดินทางไปฉีดที่โรงพยาบาล”

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในส่วนของอมตะฯ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการตั้งศูนย์บริการตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบเชิงรุกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและค้นหาผู้สัมผัสเพิ่มเติมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม

ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานในนิคม ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับผู้ประกันตนและสถานประกอบการ โดยมีกลุ่มผู้ประกันตนจากสถานประกอบการต่าง ๆให้ความสนใจเข้ามาลงทะเบียนรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 กว่า 900 คน ครอบคลุม 48 บริษัท

ซึ่งการจัดตั้งจุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกครั้งนี้ จะสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ประกอบการ ประชาชนในพื้นที่รอบนิคม และยังเป็นการบริหารจัดการในการกำจัดวงแคบของการแพร่ระบาด และสร้างความปลอดภัยในพื้นที่นิคม เนื่องจากนิคมถือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะแรงงานซึ่งเป็นหัวใจในสายการผลิต

รายงานข่าว ระบุว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการจุดบริการให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ให้แก่ แรงงานภาคอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไป โดยมีนางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานคณะกรรมการ และจะประกอบไปด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม

เพื่อทำหน้าที่ กำหนดแนวทางพื้นที่จุดบริการและเตรียมความพร้อมการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรมและประชาชน, ประสานงาน และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้การบริการมีความพร้อมและมีประสิทธิภาพ, ติดตามและรายงานผลการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการให้เป็นรูปธรรม

และล่าสุด กนอ. ได้ลงสำรวจพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่เหมาะสมเพื่อรองรับการฉีดวัคซีนแล้ว ทั่วประเทศ 59 แห่ง ทั้งที่เป็นของรับเองและของเอกชน