ทียู ยักษ์ปลากระป๋อง สู่ผู้ผลิตท็อป 5 อาหารหมา-แมว

หมาแมว

ใครจะคิดว่าการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแก้เหงาในช่วง work from home ในยุคโควิด-19 จะกลายมาเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ แต่ด้วยยอดการส่งออก “อาหารสัตว์เลี้ยง” ของไทยที่เติบโตก้าวกระโดด จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดี

ในปี 2563 ไทยส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น 10% มูลค่า 2,004 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกอันดับ 3 ของตลาดโลก ซึ่งมีมูลค่า 75,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังเติบโตต่อเนื่องมาถึงในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 ส่งออกขยายตัว 27.7% มูลค่า 594 ล้านเหรียญสหรัฐ

ผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่ของไทยหลายค่ายล้วนเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋องที่มีบายโปรดักต์ที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงได้ โดยเฉพาะ “กลุ่มบริษัทในเครือ ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)” ทั้ง บจก.ไทยรวมสิน พัฒนาอุตสาหกรรม และสงขลาแคนนิ่งถือเป็นกลุ่มท็อป 5 ผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของประเทศไทย

หากดูพอร์ตธุรกิจ “ไทยยูเนี่ยน” หรือทียู จะเห็นว่าปัจจุบันมี 3 กลุ่มสินค้าหลัก คือ อาหารทะเลบรรจุกระป๋องอาหารทะเลแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าและอื่น ๆ

ซึ่งในช่วงไตรมาสแรก ภาพรวมธุรกิจทียูมีกำไรสุทธิ 1,803 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากยอดขาย 31,125 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.1% เฉพาะในส่วนของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่า และธุรกิจอื่น ๆ มียอดขายถึง 5,469 ล้านบาท เติบโตถึง 20.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมี gross margin หรืออัตราทำกำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 27.4%

แม้ว่ามูลค่า “อาหารสัตว์เลี้ยง” จะยังไม่มากนัก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 18% ของยอดรวมของบริษัทในไตรมาสแรก แต่เรียกว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่ “เติบโตแรงที่สุด” หากเทียบกับ 2 สินค้าหลัก คือ ธุรกิจอาหารแช่แข็งโตเพียง 10.3% มูลค่า 12,076 ล้านบาท และธุรกิจอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ลดลง 13.1% มูลค่า 13,580 ล้านบาท ซึ่งทางทียูเตรียมจะ “แยกหน่วยธุรกิจนี้” ออกมาในไม่ช้า

“นายพิชิตชัย วงศ์ปิยะ” ประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีผลงานที่ดีในไตรมาสแรก ทั้งยอดขายและกำไร แม้ว่าจะมีเรื่องการแพร่ระบาดของโควิดในคลัสเตอร์มหาชัยในช่วงต้นปีก็ตามแต่ยังมีการเติบโตของอุตสาหกรรมโดยรวม จากการที่คนอยู่บ้านมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงหันมาสนใจรับเลี้ยงสัตว์ใช้เวลาเล่นและให้อาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้นด้วย

ปัจจุบันบริษัทผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบ่งเป็น อาหารแมวเป็นหลัก สัดส่วน 85% รองลงมา คือ อาหารสุนัข มีสัดส่วน 15%

สำหรับการทำตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยยูเนี่ยนได้มีการจัดทำแบรนด์อาหารแมว Bellotta และอาหารสุนัข Marvo ซึ่งเป็นแบรนด์ที่จำหน่ายในประเทศและส่งออก ส่วนในตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุด มีแบรนด์ Caligo Bay และ Paramount รองลงมายังมีการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น อิตาลี ไต้หวัน และเยอรมนี

“แผนในปีนี้ไทยยูเนี่ยนได้วางงบฯลงทุนสำหรับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 700 ล้านบาท จะมีการเปิดตัวสินค้าประมาณ 20 รายการ ออกสู่ตลาดในประเทศ โดยจะเห็นสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงกลุ่มพรีเมี่ยมเพิ่มมากขึ้น”

การพัฒนาสินค้ากลุ่มพรีเมี่ยมเป็นผลจากเทรนด์ทั่วโลกที่เจ้าของสัตว์เลี้ยง มองสัตว์เลี้ยงเป็นเสมือนสมาชิกในครอบครัว จึงจับจ่ายอาหารสัตว์เลี้ยงด้วย mindset เหมือนการซื้ออาหารของตนเอง มีการใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น

เราจึงต้องมีงบประมาณในการทำงานส่วนนี้สูงพอสมควร อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง มีขั้นตอนที่ต้องใช้แรงงานคนค่อนข้างมาก เรากำลังขยับไปสู่การใช้เครื่องจักร หรือ automation มากขึ้น ตลาดแรงงานในอนาคตอาจจะมีการขาดแคลน เราจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม

นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว การเพิ่มช่องทางการทำตลาดผ่านการขายออนไลน์ก็มีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีการกักตัวอยู่บ้านการจำหน่ายในช่องทางนี้เติบโตมากขึ้น ดังนั้น ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีการวางแผนขยายช่องทางการขายออนไลน์ควบคู่ไปกับการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ลูกค้าจะเข้ามาซื้อสินค้าเราได้สะดวกมากยิ่งขึ้นด้วย