ธรรมนัส ถก EEC นำร่องใช้ที่ สปก. หมื่นไร่ ผลิตสมุนไพรแทนนำเข้า

ร.อ.ธรรมนัส ลงพื้นที่อีอีซี หารือ หนุนเกษตรกรในที่ส.ป.ก.ทำแปลงใหญ่สมุนไพร กัญชง กัญชา ขมิ้นชัน กระชายขาว ฟ้าทะลายโจร สร้างมูลค่าเพิ่มให้สมุนไพรไทย ลดการนำเข้าปีละหมื่นล้านบาท เบื้องต้น ร่วมมือมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์พัฒนาสารสำคัญให้ตรงใจผู้บริโภค

วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เตรียมบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่าง สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อร่วมยกระดับระดับรายได้เกษตรกรในเขตพื้นที่ ส.ป.ก. โดยในเขตพื้นที่อีอีซี ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง ซึ่งมีที่ ส.ป.ก. ประมาณ 1 หมื่นไร่ เตรียมส่งเสริมทำแปลงใหญ่สมุนไพร เป็นการพัฒนาพืชเศรษฐกิจที่ตลาดโลกมีความต้องการสูง อาทิ กัญชง กัญชา ขมิ้นชัน กระชายขาว ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้หารือกับนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อร่วมมือส่งเสริมการพัฒนาเกษตรกร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ การเกษตรสมุนไพร เพื่อลดการนำเข้าสมุนไพรในแต่ละปีไทยนำเข้าสมุนไพรเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละประมาณ 10%

ข้อมูลปี 2560-62 มีการบริโภคสมุนไพรภายในประเทศ 43,100 ล้านบาท 47,600 ล้านบาท และ 52,100 ล้านบาทตามลำดับ โดยมีการนำเข้าสมุนไพรจากต่างประเทศตั้งแต่ปี 2560-62 วงเงิน 11,200 ล้านบาท 11,500 ล้านบาท และ 12,400 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนการส่งออกสมุนไพรเฉลี่ย 2,000 ล้านบาทต่อปี

ดังนั้น ในวันนี้ ( 14 มิ.ย.) จะสำรวจพื้นที่เหมาะสมที่จะทำแปลงทดลองสำหรับพัฒนาพันธุ์พืชสมุนไพร เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

โดยการดำเนินการนี้จะมีการร่วมมือกับ 3 ฝ่ายคือ ส.ป.ก. เกษตรกร และอีอีซี หรือเอกชนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งต้องมีเงินลงทุนเพื่อให้โครงการเดินหน้าได้ เบื้องต้นอาจนำมาจากเงินกองทุนพัฒนา ส.ป.ก. เพื่อให้เกษตรกรกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ส่วนการพัฒนาพันธุ์ให้ตรงกับความต้องการ เบื้องต้นจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนการหาตลาดเป็นเรื่องที่อีอีซีกับเอกชนจะรับไปดำเนินการ

“ในแต่ละปีไทยนำเข้าสมุนไพรมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ด้วยเหตุผลสมุนไพรไทย มีคุณภาพด้อยกวาคู่แข่ง และต้นทุนสู้คู่แข่งไม่ได้ และมีสารสำคัญบางอย่างไม่ตรงความต้องการของตลาดโลก ทำให้ไทยต้องทำเข้าสมุนไพรจากอินเดียเป็นจำนวนมาก การร่วมมือกันครั้งนี้ จะเริ่มตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์ไปจนถึงแปรรูป และหาตลาด อาทิ กัญชง ในไทยส่วนใหญ่ใช้เส้นใยเพื่อทำเสื้อผ้าสิ่งทอ แต่ในกัญชงมีสาร THC ที่ทางการแพทย์ต้องการ มีประโยชน์ช่วยลดอาการปวด ช่วยเพิ่มความอยากอาหาร รักษาผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัด แต่ต้องทำให้กัญชงมีค่า THC น้อยกว่า 1%”

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวต่อว่า ในเร็วๆนี้ จะเร่งดำเนินการเปิดศูนย์ส่งเสริมและขยายพันธุ์พืช เพื่อเป็นแปลงสาธิต และพัฒนาพันธุสมุนไพร พืชเศรษฐกิจ ที่ตลาดโลกต้องการ โดยจะเริ่มเปิดศูนย์ฯแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา