หอการค้าตปท.จี้รัฐอัพเกรดบีโอไอ ขอวัคซีนคนต่างชาติ 2.5 ล้านคน

วัคซีน
(File Photo by JACK GUEZ / AFP)

35 หอการค้าต่างประเทศ ชง 3 วาระด่วนรับ 120 วันเปิดประเทศ เร่งวัคซีนนักธุรกิจ-พนักงานต่างชาติ 2.5 ล้านคน พร้อมจี้อัพเกรดมาตรการเสริมลงทุน แก้กฎระเบียบ อำนวยความสะดวก ease of doing business ดึงต่างชาติสู้คู่แข่งอาเซียน

นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมร่วมหอการค้าต่างประเทศ 35 แห่ง และหอการค้าไทย โดยมีนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธาน เมื่อวันที่25 มิ.ย. 2564 มีการหยิบยกประเด็นหารือ 3 เรื่อง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดประเทศ 120 วันตามนโยบายรัฐบาล จำเป็นต้องเร่งผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนประชาชนไทยให้ได้ตามเป้าหมาย

ซึ่งทางหอการค้าต่างประเทศทั้งหมดเห็นว่ารัฐควรเร่งการฉีดวัคซีนให้กับนักธุรกิจต่างชาติในประเทศไทยและครอบครัว ซึ่งจะมีประมาณ 5 แสนคน และพนักงานชาวต่างชาติในประเทศไทยและครอบครัวอีก 2 ล้านคน รวมแล้ว 2.5 ล้านคน โดยการยกเลิกข้อจำกัดในการลงทะเบียนฉีดวัคซีน และเร่งฉีดกลุ่มนี้ให้ครบภายในไตรมาส 3

“เดิมรัฐบาลเปิดให้ต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทยลงทะเบียนฉีดวัคซีนได้ผ่านระบบออนไลน์ Thailandintervac.com แต่ยังมีการตั้งเงื่อนไขเรื่องการแสดงใบอนุญาตทำงานหรือ work permit ซึ่งหากเป็นพนักงานกับนักธุรกิจก็จะไม่มีปัญหา แต่ครอบครัวซึ่งไม่มีใบอนุญาตก็จะฉีดไม่ได้ หรือต่างชาติที่มีอายุเกิน 60 ปี ไทยควรแก้ไขโดยให้ใช้เฉพาะเอกสาร passport และ visa เท่านั้น ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาได้ ไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่และน่าลงทุนสำหรับมุมมองของต่างชาติซึ่งควรให้ความมั่นใจกับการอยู่ในประเทศไทย หรือ social security ด้วย ต้องมาคุยกัน”

พร้อมกันนี้ หอการค้าไทย-จีนยังได้แจ้งว่าได้รับการจัดสรรวัคซีนเพื่อฉีดให้กับนักธุรกิจจีนในประเทศไทย ซึ่งขอให้นักธุรกิจจีนที่เป็นสมาชิกเร่งไปรับการฉีดโดยเร็ว และล่าสุดทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้มีการจัดสรรวัคซีนมาช่วยสำหรับนักธุรกิจและชาวต่างชาติอีก 1,000 โดส และยังมีกระแสข่าวว่าจะได้รับการบริจาควัคซีนซิโนแวคอีกไม่ต่ำกว่า 5 แสนโดสสำหรับต่างชาติในประเทศไทยด้วย

Advertisment

“ประเด็นที่สำคัญคือ เรื่องการส่งเสริมการเตรียมพร้อมที่จะดึงดูดการลงทุนด้วย ไทยต้องเตรียมพร้อมก่อนจะเปิดประเทศ 120 วัน เพราะในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนต่างก็เริ่มฉีดวัคซีน ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ทุกคนจะมีเคพีไอว่าประเทศใดฉีดได้มากที่สุด จะนำมาสู่การเปิดประเทศ แต่ไม่ใช่ว่าใครเปิดเร็วกว่าจะชนะ แต่ถ้าใครเปิดประเทศด้วยมาตรการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แบบเดิมเหมือนกับที่ใช้ก่อนปิดประเทศ ก็จะไม่สามารถแข่งขันดึงดูดการลงทุนได้

ดังนั้น ตอนนี้ไทยต้องเตรียมพร้อมทันที ว่าเป้าหมายต้องการดึงอุตสาหกรรมอะไร 5G ไหม หรือรถยนต์ไฟฟ้า ตามเทรนด์โลกที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในสหรัฐและสหภาพยุโรป ซึ่งทุกคนจะมุ่งดึงการลงทุนนี้ ไทยต้องมีการวางมาตรการเชิงรุกดึงนักธุรกิจสำคัญในกลุ่มนี้อย่างไร นั่นคือต้องมาเริ่มต้นที่การสร้าง ecosystem เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนมากขึ้น ไม่ใช่รอ 120 วันแล้วค่อยมาคิด”

พร้อมกันนี้ ควรเร่งดำเนินการเรื่องการกิโยตินกฎหมายที่เป็นอุปสรรคทางการค้า ตามที่หอการค้าและทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้ศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ โดยมีการเชิญนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นแกนนำในการยกระดับกฎหมายไทยเพื่ออำนวยความสะดวกนักธุรกิจ และเพื่อส่งเสริมการลงทุนและทำธุรกิจในต่างประเทศ

รายงานข่าวระบุว่า สำหรับการแก้ไขร่างกฎหมายนั้น ก่อนหน้านี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ศึกษาเรื่องทบทวนกฎหมายของประเทศไทย (regulatory guillotine) เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ทำให้พบว่าหน่วยงานต่าง ๆ มักจะใช้กฎระเบียบการออกใบอนุญาตจำนวนมากออกมา ส่งผลต่อธุรกิจ ควรยกเลิกให้เหลือเฉพาะที่จำเป็น ถ้าสภาพแวดล้อมโดยรวมเปลี่ยน กฎเกณฑ์เพื่อลดอุปสรรคในการทำธุรกิจ และไม่เป็นภาระกับประชาชน ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นทางอ้อม และที่สำคัญการที่นักลงทุนต่างประเทศจะเข้าจะพิจารณาดัชนีชี้วัดต่าง ๆ เช่น ease of doing business ของธนาคารโลก

Advertisment

ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่าในกระบวนงาน 1,094 กระบวนงาน ใน 16 กระทรวง 47 กรม สร้างภาระต้นทุนให้ประชาชน และภาคธุรกิจ 2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งมีทั้งค่าใช้จ่ายจริง และต้นทุนการเสียโอกาสในการทำธุรกิจ จึงเสนอให้โละกฎหมายที่ไม่จำเป็น ไม่ทันสมัย 39% ปรับปรุงกฎหมาย 43% สร้างกฎหมายใหม่ ยุบรวมกฎหมาย 4% และให้คงไว้ 15% ของจำนวนกระบวนงานทั้งหมด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้ประชาชน 1.3 แสนล้านบาท หรือ 0.8% ของจีดีพีเป็นวิธีฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง

โดยยกตัวอย่าง เช่น การแก้ไขประกาศและกฎกระทรวงที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ เช่น พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพปี 2559 และกฎกระทรวง 4 ฉบับ ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการในสถานประกอบกิจการเพื่อสุขภาพ ต้องนำเอกสารที่ผ่านการอบรมไปยื่นให้กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เพราะมียอดคนยื่นจด 40,000 คนต่อปี หากแก้ไขจะช่วยลดต้นทุนได้ถึง 13,000 ล้านบาท, ประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่องเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46) กำหนดหลักเกณฑ์ให้ขออนุมัติการใช้และการเคลื่อนย้ายเครื่องเก็บเงินอัตโนมัติ กระทบต่อผู้ค้าปลีก 16,000 ร้านค้า เพราะต้องจัดโปรโมชั่น

ในช่วงกระตุ้นการจับจ่ายช่วงโควิดนี้จะมีต้นทุนต่อการย้ายเครื่อง 3,500 บาทต่อคำขอต่อเครื่องต่อครั้ง คิดเป็นมูลค่า 60 ล้านบาท สามารถยกเลิกได้ เนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันพัฒนาให้สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังจากร้านค้าได้

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การปรับปรุงกฎหมายถือเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 77 ว่าด้วยเรื่องหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องทบทวนกฎหมาย ทุก 5 ปี ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งยังมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ทบทวนกฎหมาย แต่หน่วยงานต่าง ๆ มักจะคุ้นเคยกับระบบเดิม จึงมีการตั้งคณะทำงานเพื่อปฏิรูปกฎหมายขึ้น ซึ่งหากเอกชนร้องผ่านมากฤษฎีกาจะส่งไปที่หน่วยงาน ถ้าไม่แก้หรือแก้ไขไม่ตรงจุดก็สามารถจะเสนอตรงถึงคณะรัฐมนตรีได้