โควิดทุบจดทะเบียนธุรกิจใหม่ พ.ค. หดตัว 7% หวังเปิดภูเก็ต-วัคซีน ช่วยเพิ่มยอด

กรมพัฒนาฯเผยการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ เทียบเดือนที่ผ่านมาลดลง 7% หากเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 33% คาดหวังว่าจากการฉีดวัคซีน-เปิดภูเก็ต-มาตรการภาครัฐ คนละครึ่ง กระตุ้นการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น

วันที่ 30 มิถุนายน 2564 นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยผลการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ประจำเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศจำนวน 5,568 ราย เพิ่มขึ้น 33% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หากเทียบเดือนที่ผ่านมาหดตัว 7% โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 21,513.71 ล้านบาท และประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 551 ราย คิดเป็น 10% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 312 ราย คิดเป็น 6% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร จำนวน 181 ราย คิดเป็น 3%

ขณะที่ยอดการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม 2564) มีจำนวน 27,606 ราย เพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีทุนจดทะเบียนจำนวน 112,286 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25%

ส่วนจำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 792 ราย หดตัว 12% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 2,322.75 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 71 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 50 ราย คิดเป็น 6% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 27 ราย คิดเป็น 3% ขณะที่ยอดการเลิกประกอบธุรกิจ 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม 2564) มีจำนวน 3,882 ราย หดตัว 20% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 27,313 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28%

ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 31 พ.ค. 64) ธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 799,881 ราย มูลค่าทุน 19.54 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 195,786 ราย คิดเป็น 24.48% บริษัทจำกัด จำนวน 602,801 ราย คิดเป็น 75.36% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,294 ราย คิดเป็น 0.16%

นายทศพลกล่าวอีกว่า การแพร่ระบาดของโควิด -19 ที่กระจายเป็นวงกว้างประกอบกับเจอคลัสเตอร์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ยอมรับว่ายังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่เพราะหากเทียบจากเดือนที่ผ่านมาลดลง 7% ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจลดลง ชะลอการตัดสินใจจัดตั้งนิติบุคคลออกไปก่อน เช่น ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร ธุรกิจบัญชีและการตรวจสอบบัญชี และธุรกิจออกแบบและตกแต่งภายใน

อย่างไรก็ตาม จากมาตรการการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 นับตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมามีจำนวนประชาชนผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการมีนโยบายในการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวในจังหวัดต่าง ๆ ที่มีความพร้อมจากจำนวนประชาชนผู้ได้รับวัคซีนที่เพียงพอ และมาตรการที่รัดกุมในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป เช่น จังหวัดภูเก็ต และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่จะเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2564 รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น มาตรการ “สินเชื่อ ฟื้นฟู” มาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ของธนาคารแห่งประเทศไทย โครงการ “จับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับร้านอาหาร” ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ หรือเข้าถึงสถาบันการเงิน โดยมีดอกเบี้ยราคาพิเศษ และปลอดหลักทรัพย์ในบางกรณี น่าจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในครึ่งปีหลังฟื้นตัวขึ้น

สำหรับเดือนพฤษภาคม 2564 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น มีจำนวน 37 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนวน 20 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจจำนวน 17 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 4,218 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 12 ราย เงินลงทุน 372 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จำนวน 6 ราย เงินลงทุน 18 ล้านบาท และจีน จำนวน 5 ราย เงินลงทุน 770 ล้านบาท ส่วน 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม 2564) คนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ จำนวน 217 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 35,433 ล้านบาท