“จุรินทร์” เป็นประธานลงนาม Mini FTA ฉบับแรกกับเมืองโคฟุ 12 ก.ค.นี้

“จุรินทร์” เผยเตรียมเป็นประธานลงนาม Mini FTA ฉบับแรก ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกับนายกเทศมนตรีเมืองโคฟุ 12 ก.ค.นี้ เดินหน้าร่วมมือการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ แย้มคิวต่อไปทำกับไหหนาน จีน เตลังคานา อินเดีย และคยองกี เกาหลีใต้

วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 12 ก.ค. 2564 จะเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ระหว่างนายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับนายกเทศมนตรีเมืองโคฟุ จังหวัดยามานาชิ ประเทศญี่ปุ่น ผ่านทางออนไลน์ ถือเป็น Mini FTA ฉบับแรก ที่ไทยดำเนินการสำเร็จ หลังจากใช้เวลาในการเจรจากับรัฐ หรือมณฑล หรือเมืองเป้าหมายมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังมีเป้าหมายทำ Mini FTA ภายในปีนี้อีก โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการเจรจาในรายละเอียดของความร่วมมือ ได้แก่ ไห่หนาน หรือมณฑลไหหลำ ของจีน รัฐเตลังคานา ของอินเดีย เมืองคยองกีของเกาหลีใต้ ซึ่งคาดว่าจะลงนามกันได้ประมาณเดือน ส.ค. 2564

“ผมเร่งอยู่ เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการ เพื่อสร้างโอกาสในการทำการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่น ๆ กับเมืองเป้าหมาย ซึ่งหากทำสำเร็จ จะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทยอีกมาก เพราะเป็นความร่วมมือสองฝ่าย” นายจุรินทร์กล่าว

สำหรับ MOU ที่จะลงนามกับเมืองโคฟุ เป็นความร่วมมือในการส่งเสริมและแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการพัฒนาธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างไทยกับญี่ปุ่น การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เช่น การเจียระไน การผลิต การออกแบบ การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างกัน และการเปลี่ยนความร่วมมือในการจัดงานแสดงสินค้า

ทั้งนี้ เมืองโคฟุ เป็นเมืองหลวงของจังหวัดยามานาชิ เป็นเมืองแห่งอัญมณี เป็นแหล่งผลิตจิวเวลรี่ชั้นนำของญี่ปุ่น มีช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญด้านการขึ้นรูปโลหะด้วยเทคโนโลยี มีการพัฒนาแบรนด์เป็นของตนเอง และเป็นเมืองที่นำเข้าวัตถุดิบจากไทยเป็นจำนวนมาก เช่น พลอยสี รวมถึงทับทิบ ไพลิน หยก และอื่น ๆ รวมทั้งนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปจากไทยเป็นจำนวนมาก อีกทั้งจังหวัดยามานาชิ เป็นจังหวัดที่มีผู้ประกอบการอัญมณีมากกว่า 1,000 บริษัท ครองส่วนแบ่งตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในญี่ปุ่นสัดส่วนสูงถึง 33% หรือมูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาท

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในช่วง 5 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 67,597.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.80% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องประดับแท้ สัดส่วน 33.55% เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน 17.50% อัญมณี 21.10% โลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ 4.92% มีตลาดส่งออกสำคัญ เช่น สหรัฐ ฮ่องกง เยอรมนี อินเดีย อังกฤษ โดยญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกอันดับ 6 ของไทย มีมูลค่าการส่งออก 80.64 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2,432.43 ล้านบาท เพิ่ม 10.84%