บิ๊กธุรกิจฝ่าพายุดิสรัปชั่น พลิกโมเดลหนีตาย-ตกชั้น

15 ซีอีโอธุรกิจยักษ์ เปิดแผนทรานส์ฟอร์มธุรกิจฝ่าพายุ “ดิจิทัลดิสรัปชั่น” ปรับองค์กร-เปลี่ยนวิถีการทำธุรกิจ “หนีตาย-ตกชั้น” รับความมั่งคั่งในอนาคต ปตท.บิ๊กพลังงานหันหลังให้ “น้ำมัน” ไล่ล่าหาธุรกิจใหม่ ยักษ์ ซี.พี.ดึงทาเลนต์ระดับโลกเสริมทัพ “ไทยเบฟ” ยกเครื่องโรงงานเครื่องดื่ม ลงทุนใช้หุ่นยนต์ 100% ขณะที่แบงก์พาณิชย์ดิ้นปรับโมเดลทรานส์ฟอร์มธุรกิจ “ชาติศิริ” ชี้หัวใจสำคัญความสำเร็จไม่ใช่แค่เทคโนโลยี แต่อยู่ที่ “คน”

จากที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจได้จัดทำหนังสือ ASEAN 100 (2017) เป็นการจัดอันดับ 100 บริษัทสุดยอดมั่งคั่งแห่งอาเซียน ปีที่ 3 ต่อเนื่อง พร้อมกับอีกหนึ่งไฮไลต์ของหนังสือ คือ การนำเสนอบทสัมภาษณ์ 15 ซีอีโอธุรกิจยักษ์ใหญ่แบบเจาะลึก ในการถอดรหัสความคิดมุมมองการทรานส์ฟอร์เมชั่นของแต่ละองค์กรกับเกมเดิมพัน…ธุรกิจแห่งอนาคต ในยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น

ปตท.ฝ่าพายุ “น้ำมัน” ขาลง

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจัยที่กระทบต่อธุรกิจของ ปตท. ในวันนี้ไม่ใช่เฉพาะปัญหาราคาน้ำมันที่ตกต่ำ หรือกระแสของรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยภายในประเทศอื่น ๆ คือ นโยบายการเปิดเสรีพลังงานทุกประเภท และการส่งเสริมพลังงานทดแทนของภาครัฐที่มีการขยายตัวอย่างมาก ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าจากระบบหลักของการไฟฟ้าฯลดลง

ซีอีโอ ปตท.กล่าวว่า โอกาสที่ธุรกิจของ ปตท.จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคตนั้น อยู่ที่การค้นหาและสร้างธุรกิจใหม่ ๆ และเครื่องมือสำคัญของ ปตท.ก็คือ ทีม “Express Solutions” หรือ ExpresSo เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่หัวกะทิของ ปตท. ที่มีหน้าที่ค้นหาโอกาสทางธุรกิจในโลกยุคดิจิทัลเพื่อต่อยอดธุรกิจพลังงาน เช่นที่เมื่อต้นปี ปตท.ได้ประกาศตั้งกองทุนมูลค่า 1.6 พันล้านบาท เพื่อลงทุนในสตาร์ตอัพทั้งกลุ่มพลังงาน ดิจิทัล และโรโบติก รวมถึงลงทุนในกองทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานของสหรัฐอเมริกา

“การเข้าไปร่วมลงทุนในสตาร์ตอัพ และกองทุนต่าง ๆ ก็เหมือนกับการเปิดประตู เปิดตัวเราให้รับสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน และเมื่อการพัฒนาแต่ละโครงการสามารถเดินหน้าสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ ปตท.ก็สามารถเข้าไปร่วมลงทุนโดยตรงได้ทันที”

ซี.พี.ดึงทาเลนต์ต่างชาติเสริมทัพ

สำหรับอาณาจักรธุรกิจยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือ ซี.พี. กล่าวว่า เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจในอนาคต การปรับเปลี่ยนองค์กรเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่การลงทุนฮาร์ดแวร์ แต่ต้องสร้างและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในองค์กรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพราะธุรกิจในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก เพราะมากกว่าเรื่อง 4.0 ก็คือ “คน” ดังนั้นต้องสร้างความสามารถใหม่ให้กับคนที่มีอยู่ พร้อมกับหาคนที่มีความสามารถและประสบการณ์เข้ามาช่วย และถ้าในประเทศไม่มี ก็ต้องดึงทาเลนต์ระดับโลก ระดับภูมิภาคเข้ามาช่วย

นายศุภชัยกล่าวว่า องค์กรที่ปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงจะเป็น “ผู้นำ” แต่ถ้าจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน ต้องไม่ใช่แค่ตอบสนองและปรับตัวได้เท่านั้น แต่จะต้องเป็น “ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง” โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ในการพัฒนา และยกระดับการผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ก้าวสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ เพราะธุรกิจของ ซี.พี. ต้องแข่งกับผู้เล่นระดับโลก

ไทยเบฟใช้หุ่นยนต์ 100%

ขณะที่นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มองว่า ในอนาคตเรื่องบิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อีคอมเมิร์ซ ฯลฯ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในหลายแง่มุมของการทำธรุกิจ ทั้งการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการหาตลาด และเข้าถึงผู้บริโภค ทำให้เกิดการเติบโตแบบก้าวกระโดดผ่านแพลตฟอร์มนี้

สำหรับการรับมือกับรูปแบบของการแข่งขันที่เปลี่ยนไป และคู่แข่งใหม่ ๆ ที่พร้อมจะกระโจนเข้ามาในตลาด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างทีมภายในองค์กร การให้ความสนใจกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเรียนรู้ ปรับตัว และประยุกต์กับรูปแบบของธุรกิจให้เหมาะสม เช่น ในส่วนของโรงงาน ได้นำเครื่องจักรและหุ่นยนต์เข้ามาเสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยมีเป้าหมายให้โรงงานในเครือกว่า 30 แห่ง ทั้งโรงงานสุรา เบียร์ ชาเขียว น้ำดื่ม ฯลฯ กลายมาเป็นระบบอัตโนมัติ 100% ในอนาคต

นายฐาปนกล่าวว่า ไทยเบฟได้ลงทุนจัดตั้ง บริษัท เบฟเทค จำกัด เพื่อพัฒนา-ผลิตหุ่นยนต์และเครื่องจักรเพื่อการนี้โดยเฉพาะ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของทีมวิศวกรระดับหัวกะทิกว่า 59 ชีวิต ให้มาเรียนรู้จุดเด่น-จุดด้อย จากเครื่องจักรหลากหลายสัญชาติ แล้วนำมาปรับปรุง ต่อยอดจนกลายเป็นเครื่องจักรรูปแบบเฉพาะเหมาะสมกับการผลิตของแต่ละสินค้า มีระบบปฏิบัติการของตัวเองที่ไม่ต้องยืมมือบริษัทต่างชาติเข้ามาช่วยอัพเกรด หรือแก้ปัญหา

นอกจากนี้ ซีอีโอไทยเบฟยังระบุว่า บริษัทต้องการสร้าง “กรุ๊ปซีอีโอ” ที่อายุไม่เกิน 45 ปี ขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กร โดยการหาทาเลนต์ และเริ่มสร้างคนแต่เนิ่น ๆ เพราะคนรุ่นใหม่จะมีความคล่องแคล่ว ว่องไว มีไอเดียใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอด พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันที่หมุนเร็วขึ้น

SCB ฝ่าพายุดิสรัปชั่น

ฟากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่กำลังเผชิญหน้าความท้าทายจากกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่น นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB กล่าวว่า เดิมเทคโนโลยีเกิดขึ้นมาเพื่อช่วยให้ธุรกิจพัฒนามากขึ้น แต่ตอนนี้เทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์ พร้อมกับการเกิดขึ้นของบิสซิเนสโมเดลใหม่ แล้วฆ่าธุรกิจโมเดลเก่า ๆ เทคโนโลยีใหม่ทำให้คนอื่น ๆ สามารถทำงานเพื่อให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้น อย่างที่ตอนนี้หลาย ๆ ธุรกิจเข้ามาเป็นผู้ให้บริการทางการเงินแข่งกับธนาคาร โจทย์การทรานส์ฟอร์มครั้งนี้ของแบงก์เป็นการมุ่งเป้าหมายไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อทำให้ธนาคารมีความสามารถเพิ่มมากขึ้น เริ่มจากการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานแบงก์ 4 ส่วนหลัก คือ 1.เทคโนโลยี 2.ความสามารถของพนักงาน 3.กระบวนการทำงาน 4.วัฒนธรรมองค์กร

“เพราะไม่มีใครรู้ว่าธุรกิจในวันนี้จะเป็นอย่างไรในวันหน้า ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อทำให้ธุรกิจไปต่อได้ในทุกรูปแบบ เพราะอนาคตถ้าแบงก์คิดแต่ทำธุรกิจแบงกิ้งอย่างเดียว โอกาสรอดจะน้อยมาก เราไม่สามารถทำธุรกิจในรูปแบบเดิมได้อีกต่อไป” นายอาทิตย์กล่าว

การเปลี่ยนแปลงนำสิ่งที่ดีกว่า

ขณะที่นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า กระแสดิจิทัลดิสรัปชั่นทำให้ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ต่างเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงจะนำมาซึ่งสิ่งที่ดีกว่า ถ้าเราสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ การเปลี่ยนแปลงโลกดิจิทัลก็เช่นกัน ส่งผลต่อองค์กรและผู้บริโภค ทั้งทางตรงและทางอ้อม สิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุด คือ การเชื่อมต่อกันระหว่างธนาคารกับลูกค้าจะมีมากขึ้น ผ่านทางช่องทางที่เพิ่มขึ้นและหลากหลายยิ่งขึ้น

“เวลานี้ธนาคารพาณิชย์กำลังปรับตัวเพื่อรองรับการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ แทนที่จะพยายามสร้างผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินครบวงจรแบบ financial supermarket ทุกวันนี้ธนาคารหันไปจับมือกับฟินเทคเพื่อพัฒนาการให้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ มากขึ้น”

นายชาติศิริย้ำว่า แม้ว่าดิจิทัลแบงกิ้งจะมีบทบาทในการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้ามากขึ้น แต่ธนาคารกรุงเทพเชื่อว่าบุคลากรยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการให้บริการลูกค้า ธนาคารจึงพัฒนาบุคลากรคู่ขนานไปกับการพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้พนักงานมีความรู้และความเข้าใจอย่างเพียงพอ ทั้งด้านเทคโนโลยีและความต้องการของลูกค้า

BJC+BIGC ต่อกรอีคอมเมิร์ซ

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้ารายใหญ่ของประเทศ ที่ล่าสุดได้ทุ่มทุนกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อเป็นเจ้าของช่องทางค้าปลีกใหญ่ “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจปลายน้ำที่สัมผัสกับผู้บริโภคโดยตรงคือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ และบิ๊กซีจะช่วยให้บีเจซีสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในช่วงเวลาที่การแข่งขันยังคงร้อนแรง

“การเข้ากุมบังเหียนบิ๊กซีได้ผลักดันให้รายได้ของบีเจซีเติบโตก้าวกระโดด จากหลักหมื่นล้านหลายเป็นแสนล้านอย่างรวดเร็ว แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ก็มาพร้อมกับความท้าทายครั้งใหญ่ เพราะเท่ากับว่าบีเจซีเปิดหน้าชกใหม่ จากเดิมแข่งกับยักษ์คอนซูเมอร์โปรดักต์ ก็รุกคืบเข้าไปแข่งในธุรกิจปลายน้ำที่วันนี้ไม่ได้แข่งขันกับเจ้าของพื้นที่ค้าปลีกด้วยกันเท่านั้น แต่ต้องแข่งกับผู้เล่นอีคอมเมิร์ซระดับโลกที่ไม่มีต้นทุนสาขา พนักงาน”

นายอัศวินระบุว่า บิ๊กดาต้าคือหนึ่งในไม้เด็ดที่บิ๊กซีจะลงทุนมากขึ้น เพื่อสร้างความแตกต่าง โดยอาศัยข้อมูลจากสมาชิก “บิ๊กการ์ด” เพื่อทำให้ลงลึกพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคถึงขั้นบอกได้เลยว่า ลูกค้าแต่ละคนซื้ออะไรในตะกร้าบ้าง พร้อมกับการเปิดเกมรุกการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันออนไลน์ยังทำยอดขายให้บิ๊กซีไม่ถึง 5%

“ถ้าเราสามารถเข้าใจพฤติกรรมการซื้อของคน ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราเลือกสินค้ามาขายได้ตรงกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ สามารถ tailor made แคมเปญ ดึงคนให้กลับมาซื้อซ้ำ ขณะที่ซัพพลายเออร์ที่เป็นคู่ค้าก็จะมีข้อมูลสำหรับวางแผนการขายได้ดียิ่งขึ้น” นายอัศวินกล่าว

AIS ปรับองค์กรรับโลกเปลี่ยน 

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า แม้เอไอเอสจะเป็นผู้นำในธุรกิจโทรศัพท์มือถือด้วยฐานลูกค้ากว่า 44 ล้านราย แต่พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก บริษัทจึงต้องปรับเปลี่ยนองค์กรจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ไปเป็น “ดิจิทัลไลฟ์เซอร์วิสโพรไวเดอร์”

“เอไอเอสอาจโชคดีที่อยู่ในธุรกิจที่ยังไม่ตาย และเป็นธุรกิจดิจิทัลอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าการอยู่ที่ในธุรกิจที่กำลังรุ่งแบบนี้จะตายไม่ได้ มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว อย่างในธุรกิจมือถือ มีแบรนด์ผู้นำบางรายต้องล้มหายตายจากไป เพราะผู้บริโภคเปลี่ยนเร็วกว่าที่คิด เอไอเอสก็ต้องไม่ประมาท ถ้าเราไม่ทรานส์ฟอร์ม วันหนึ่งเราก็อาจล้มหายตายจากไปได้เช่นกัน เพราะอาจมีคู่แข่งพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นมากินพันธุ์เก่าอย่างเราเมื่อไรก็ได้”

นายสมชัยกล่าวว่า การที่เอไอเอสมี “คอนเน็กชั่น” กับลูกค้ามากกว่าประชากรครึ่งประเทศ เป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมอื่น ๆ มองเห็นว่ามี “มูลค่า” และต้องการที่จะเข้าถึงฐานลูกค้านี้ ดังนั้นถ้าปรับตัวได้ดี เอไอเอสจะเป็น “แพลตฟอร์ม” ที่ช่วยอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้

“เอไอเอสมีเงินพอที่จะทำช่องทีวีได้ ทำแบงก์ก็ได้ แต่ไม่อยากทำ เพราะเราอยากทำแพลตฟอร์มให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้ามาใช้ สร้างอีโคซิสเต็ม หรือเรียกว่าเป็นแชริ่งอีโคโนมีให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยใช้ความแข็งแรงที่สุดที่เรามี คือการรู้พฤติกรรมผู้บริโภค และการคอนเน็กต์กับฐานลูกค้ากว่า 40 ล้านคน”

ถอดรหัส 15 ซีอีโอยักษ์ธุรกิจ 

นอกจากนี้ ในหนังสือ ASEAN 100 (2017) ยังมีบทสัมภาษณ์ของซีอีโอมือดีอีกหลายท่าน ประกอบด้วย นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ซีอีโอเอสซีจี ที่สะท้อนมุมมองการขับเคลื่อนองค์กรเก่าแก่อายุ 104 ปี อย่างไรไม่ให้ตกยุค และยังสามารถเติบโตอย่างแข็งแรง รวมทั้งบรรดาซีอีโอของกลุ่มธนาคารพาณิชย์อย่าง นายพิพิธ อเนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย, นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย, นายโนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา แบงก์ไทยสายเลือดซามูไร กับการเร่งสปีดทรานส์ฟอร์มธุรกิจรับมือการแข่งขัน (รูปแบบใหม่) ที่ดุเดือด, นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจใหม่ ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และการลงทุนในเหมืองลิเทียมที่เป็น “ต้นน้ำ” ของการผลิตแบตเตอรี่ รับเทรนด์โลกที่เปลี่ยนจากรถใช้น้ำมันไปสู่ “รถยนต์ไฟฟ้า”

นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัทฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดมุมมองความท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานสีเขียว และยุครถไร้คนขับ, นายชานนท์ เรืองกฤตยา ซีอีโอของ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเมนท์ น้องใหม่วงการอสังหาฯที่มาแรงด้วยโมเดลธุรกิจที่ไม่เหมือนใคร และนางยุวดี จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ที่กำลังสร้างนิยามบทใหม่ 70 ปีของห้างเซ็นทรัล กับการโต้คลื่นอีคอมเมิร์ซ ที่ล่าสุดเพิ่งได้ร่วมทุนกับเจดีดอตคอม ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซเบอร์ 2 ของจีน