ส่งออกข้าวไทย 6 เดือนแรกของปี 2564 หดตัว 25% คาดว่าครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น หลังราคาข้าวไทยปรับลดลงและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ตลาดสำคัญในแถบแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย มีแนวโน้มนำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้นทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่ง
วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า จากข้อมูลของกรมศุลกากร การส่งออกข้าวในช่วง 6 เดือนแรกของปี (มกราคม-มิถุนายน 2564) มีปริมาณ 2,167,591 ตัน มูลค่า 41,507 ล้านบาท หรือ 1,369.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณส่งออกลดลง 25.8% และมูลค่าลดลง 33.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีการส่งออกปริมาณ 2,922,749 ตัน มูลค่า 62,041 ล้านบาท หรือ 1,980.9 ล้านเดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ สมาคมฯคาดว่าในเดือนกรกฎาคม 2564 น่าจะส่งออกได้มากกว่า 400,000 ตัน เพราะคาดว่าตลาดสำคัญในแถบแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย มีแนวโน้มที่จะนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่ง เนื่องจากราคาข้าวของไทยปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่ไม่ห่างจากคู่แข่งมากนัก ประกอบกับความต้องการข้าวในตลาดต่างประเทศเริ่มมีมากขึ้นเพราะอุปทานข้าวในประเทศมีน้อยลง
ส่วนการส่งออกครึ่งปีหลังคาดว่าการส่งออกข้าวน่าจะดีขึ้น เพราะในปีนี้ผลผลิตข้าวของไทยจะเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลงซึ่งจะทำให้ราคาข้าวของไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ โดยในช่วงนี้ข้าวขาว 5% ของไทยราคาอยู่ที่ 402 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม ราคา 388-392 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน อินเดีย ราคา383-387ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และปากีสถาน ราคาอยู่ที่ 378-382 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่วนข้าวนึ่งของไทยราคาอยู่ที่ 415 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวนึ่งของอินเดียราคาอยู่ที่353-357ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และปากีสถาน อยู่ที่ 396-400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน
สำหรับการส่งออกข้าวในเดือนมิถุนายน 2564 พบว่า มีปริมาณ 389,331 ตัน เพิ่มขึ้น 21.9% โดยมีมูลค่า 7,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 ที่มีการส่งออกปริมาณ 319,278 ตัน มีมูลค่า 6,201 ล้านบาท โดยในช่วงนี้การส่งออกข้าวเริ่มดีขึ้นบ้าง เนื่องจากการที่ราคาข้าวของไทยปรับลดลงตามภาวะตลาดและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ทำให้ช่องว่างระหว่างราคาข้าวไทยและประเทศคู่แข่งเริ่มแคบลง ทำให้แข่งขันได้
ส่งผลให้การส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน การส่งออกข้าวขาว มีปริมาณ 205,851 ตัน เพิ่มขึ้น 54.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ส่งไปประเทศโมซัมบิก อิรัก ญี่ปุ่น แคเมอรูน แองโกล่า จีน ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ขณะที่การส่งออกข้าวนึ่งมีปริมาณ 84,619 ตัน เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ส่งไปยังตลาดหลัก เช่น แอฟริกาใต้ เยเมน แคเมอรูน เบนิน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) ซึ่งมีตลาดหลักคือ สหรัฐฯ ฮ่องกง สิงคโปร์ แคนาดา กลับส่งออกได้เพียง 61,816 ตัน ลดลง 0.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากยังคงมีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่พุ่งสูงขึ้นโดยเฉพาะเส้นทางเดินเรือที่ไปยังภูมิภาคอเมริกาที่ค่าระวางเรือพุ่งสูงขึ้นถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้ต้นทุนรวมของผู้ซื้ออยู่ในระดับที่สูงมากแม้ว่าราคาข้าวหอมมะลิไทยจะปรับลดลงก็ตาม จึงส่งผลให้คำสั่งซื้อมีปริมาณลดลง