อาหาร-เครื่องดื่ม-เกษตร นำลิ่วใช้ FTA-GSP ลดภาษีส่งออกพุ่ง

พาณิชย์เผยภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA และ GSP 7 เดือนแรกโต 36.23% สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯสูง อาหาร เครื่องดื่ม และเกษตร

วันที่ 16 กันยายน 2564 นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2564 พบว่า มีมูลค่า 46,394.36 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 77.30% แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 44,178.04 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 2,216.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ โดยภาพรวม การใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้น 36.23%

กีรติ รัชโน

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) 7 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่า 44,178.04 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 36.30% มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 78.17% โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อาเซียน (มูลค่า 15,409.35 ล้านเหรียญสหรัฐ) 2) จีน (มูลค่า 14,773.87 ล้านเหรียญสหรัฐ) 3) ออสเตรเลีย (มูลค่า 4,893.99 ล้านเหรียญสหรัฐ) 4) ญี่ปุ่น (มูลค่า 4,072.09 ล้านเหรียญสหรัฐ) และ 5) อินเดีย (มูลค่า 2,645.32 ล้านเหรียญสหรัฐ)

สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-เปรู (100%) 2) อาเซียน-จีน (93.84%) 3) ไทย-ญี่ปุ่น (79.12%) 4) อาเซียน-เกาหลี (72.51%) และ 5) ไทย-ชิลี (70.67%)

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ 7 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,216.32 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 34.98% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 63.30% ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 1,973.21 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 43.16% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 66.30%

อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 153.91 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.56% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 38.78% อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 79.83 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.68% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 70.88% และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 9.37 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.40% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 59.97%

สำหรับสินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ มะพร้าวปรุงแต่ง ซอสปรุงรส น้ำ/เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารปรุงแต่ง สับปะรดกระป๋อง กระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ เนื้อปลาแบบฟิลเล สด แช่เย็น แช่แข็ง ข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมด ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารหรือเครื่องดื่ม

ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 ไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเพื่อส่งออกภายใต้กรอบ FTA ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทางการส่งออก อาทิ ไทย-เปรู (เพิ่มขึ้น 132.51%) อาเซียน-อินเดีย (เพิ่มขึ้น 55.72%) อาเซียน (เพิ่มขึ้น 42.70%) อาเซียน-จีน (เพิ่มขึ้น 32.47%) เป็นต้น และหลายตลาดเริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังจากหดตัวต่อเนื่อง ได้แก่ ไทย-อินเดีย (เพิ่มขึ้น 4.91%) และ อาเซียน-ญี่ปุ่น (เพิ่มขึ้น 3.89%)

สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯสูง ประกอบไปด้วยสินค้าหลากหลาย ทั้งสินค้าอุตสาหกรรม อาหาร/เครื่องดื่ม และเกษตร อาทิ แผ่นและแถบทำด้วยอะลูมิเนียม (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ ทำหรือชุบด้วยเงิน (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เครื่องปรับอากาศ (อาเซียน) ทุเรียนสด (อาเซียน-จีน) ผลไม้ เช่น ฝรั่ง มะม่วง มังคุด (อาเซียน-จีน) โพลิไวนิลคลอไรด์ (อาเซียน-อินเดีย) ปลาซาร์ดีนปรุงแต่ง (อาเซียน-ญี่ปุ่น) เครื่องซักผ้าเกิน 10 ก.ก. (อาเซียน-เกาหลี) ถุงมือยาง (ไทย-ชิลี) เครื่องแต่งกายและของที่ใช้ประกอบกับเครื่องแต่งกาย (ไทย-เปรู) เป็นต้น