ชลประทานงัดทุกแผนผันเข้า 10 ทุ่งรับน้ำ เปิดประตูระบายผ่านคลองลัดโพธิ์ป้องท่วม กทม.

กรมชลประทาน คุมเข้มบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา-แม่น้ำป่าสัก ให้ไหลมาสู่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ไม่เกิน 3,200 ลบ.ม./วินาที งัดแผนระบาย 10 ทุ่งรับน้ำ เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดันมวลน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลเร็วขึ้น ป้องทะลักเข้าเขตพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน ปริมณฑลเต็มที่

วันที่ 4 ตุลาคม 2564 เวลา 12.30 น. นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากปริมาณฝนที่ตกในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งประเทศของปี 2564 สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 9% โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคกลางสูงกว่าค่าเฉลี่ย 9% เท่ากัน ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1% จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่น “เตี้ยนหมู่” ช่วงวันที่ 24-26 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่

โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งส่วนใหญ่จะตกบริเวณด้านท้ายเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ส่งผลให้ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ณ วันที่ 3 ต.ค. 64 มีปริมาณน้ำในอ่างรวมกันเพียง 12,832 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ 6,136 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 12,000 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนล่างบริเวณจังหวัดกำแพงเพชร และในพื้นที่จังหวัดลำปาง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงสูงขึ้น และน้ำส่วนหนึ่งที่มาจากพื้นที่จังหวัดลำปาง ไหลลงสู่ลำน้ำแม่มอกและคลองแม่รำพันในเขตจังหวัดสุโขทัย ทำให้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำฝั่งขวาของแม่น้ำยมบริเวณ อ.เมืองสุโขทัย กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำท่าในลุ่มน้ำยม เพื่อดึงน้ำจากลำน้ำแม่มอกและคลองแม่รำพันให้ระบายลงสู่แม่น้ำยมได้สะดวกรวดเร็ว พร้อมกันนี้ได้หน่วงน้ำไว้ในพื้นที่แก้มลิงทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก เพื่อช่วยลดผลกระทบกับปริมาณน้ำที่ท่วมในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยฝั่งตะวันตก รวมไปถึงช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลหลากลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วย

ด้านแม่น้ำปิง ปัจจุบันปริมาณน้ำได้ลดลงแล้ว แต่ยังมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังไหลมาสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ต้องผันน้ำเข้าคลองทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยารวม 376 ลบ.ม./วินาที (ฝั่งตะวันตก 331 ลบ.ม./วินาที และฝั่งตะวันออก 45 ลบ.ม./วินาที) เพื่อลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ปัจจุบัน (4 ต.ค. 64) มีการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,771 ลบ.ม./วินาที และที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ยในอัตรา 3,091 ลบ.ม./วินาที (รับน้ำได้สูงสุด 3,500 ลบ.ม./วินาที)

“กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก ให้ไหลมาสู่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ไม่เกิน 3,200 ลบ.ม./วินาที โดยจะไม่ส่งผลกระทบกับกรุงเทพมหานคร และจะใช้เขื่อนเจ้าพระยาเพื่อควบคุมปริมาณน้ำ และรับน้ำเข้าคลองทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังได้ใช้ทุ่งรับน้ำบริเวณตอนล่างของลุ่มเจ้าพระยา 10 ทุ่ง รับน้ำเข้าไปเก็บไว้ช่วยลดยอดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง รวมไปถึงเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งด้วย”

สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำป่าสักที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องระบายน้ำเพื่อลดปริมาณน้ำที่เกินระดับเก็บกักของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบัน (4 ต.ค. 64) มีการระบายลงสู่ด้านท้ายในอัตรา 1,133 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำในแม่น้ำป่าสัก

โดยการผันน้ำบางส่วนออกทางคลองระพีพัฒน์ ผ่านประตูระบายน้ำ (ปตร.) พระนารายณ์ ลงสู่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองบางขนาก และคลองพระองค์ไชยานุชิต เพื่อสูบออกแม่น้ำบางปะกงและอ่าวไทยตามลำดับ ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเขื่อนพระรามหก และลดผลกระทบบริเวณ อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง และ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน (3 ต.ค. 64) มีการรับน้ำเข้าทุ่งไปแล้วรวม 878 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นทุ่งฝั่งตะวันออก 387 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่ ทุ่งเชียงราก 21 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งท่าวุ้ง 90 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก 123 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งบางกุ่ม 131 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งบางกุ้ง 22 ล้าน ลบ.ม. ด้านทุ่งฝั่งตะวันตกรับน้ำไปแล้วรวม 491 ล้าน ลบ.ม.

ได้แก่ ทุ่งบางบาล-บ้านแพน 50 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งป่าโมก 49 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งผักไห่ 200 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งเจ้าเจ็ด 45 ล้าน ลบ.ม. และทุ่งโพธิ์พระยา 147 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือพื้นที่ที่สามารถเก็บกักน้ำได้อีกประมาณ 590 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ในพื้นที่ตอนล่าง กรมชลประทานได้ใช้โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้ไหลลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น ถือว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้เป็นอย่างมาก