มหากาพย์แก้ร่าง พ.ร.บ.อ้อย โรงงานค้านนิยามใหม่ “กากอ้อย”

อ้อย

ร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย 2527 วุ่นหนัก หลังมีการแก้นิยาม “กากอ้อย-กากตะกอนกรอง” จากของเสียในระบบการผลิตน้ำตาลให้กลายเป็น “ผลพลอยได้” ให้ชาวไร่อ้อยนำเข้าระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70/30 โดยฝ่ายโรงงานน้ำตาลค้านสุดตัว

พร้อมทำหนังสือถึง “วิษณุ-สุริยะ” การแก้คำนิยามทำระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30 ไม่เป็นธรรม ด้านชาวไร่อ้อยเสียงแข็งไม่ถอนคำนิยาม แต่พร้อมเปิดทางเจรจากันกับโรงงานน้ำตาล ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมเผยเป็นมหากาพย์แก้สัดส่วนแบ่งปันผลประโยชน์คงยาก ถกไม่จบแน่

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) และประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ กล่าวถึงกรณี 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นตัวแทนจากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 57 โรงงาน มีมติ “คัดค้าน” ร่างแก้ไขมาตรา 4 ใน พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่ต้องการนำ “กากอ้อยและกากตะกอนกรอง” เข้าสู่การคำนวณระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30

โดยเพิ่มเติมคำนิยามใหม่ให้รวมกากอ้อย-กากตะกอนกรองเป็น “ผลพลอยได้” จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายเข้าไปด้วย

โดยฝ่ายโรงงานน้ำตาลยังคงยืนยันว่า กากอ้อยและกากตะกอนกรองเป็น “ขยะอุตสาหกรรม” ที่ต้องดำเนินการกำจัดของเสียเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาโรงงานน้ำตาลได้นำกากอ้อยไปทำเชื้อเพลิงผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าเพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาล แต่มีเพียงบางโรงงานน้ำตาลที่นำกากอ้อย-กากตะกอนกรองไปสร้างมูลค่าเพิ่มโดยเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด มูลค่าหลายพันล้านบาทเองทั้งหมด

ดังนั้น การนำกากอ้อยและกากตะกอนกรองซึ่งเป็นขยะอุตสาหกรรมให้มาเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30 โดยอ้างว่าเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตนั้น “ทาง 3 สมาคมเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ” และส่งผลกระทบต่อสัดส่วนการแบ่งปันผลรายได้ที่เคยเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่ายระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล

ล่าสุด 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้ยื่นหนังสือถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอีกครั้ง เพื่อคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายในการเพิ่มเติมนิยามดังกล่าว

ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ หลังได้ผ่านความเห็นชอบเพิ่มเติมมาตรา 4 ในส่วนคำนิยามผลพลอยได้ให้หมายรวมถึง “กากอ้อย” ไปแล้ว โดยเป็นการเพิ่มชนิดผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้คำนวณรายได้ในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30

และที่สำคัญไม่ได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนฝ่ายโรงงานน้ำตาลซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงแม้แต่คนเดียว ดังนั้น ฝ่ายโรงงานน้ำตาลจึงเห็นว่าร่างแก้ไขฉบับดังกล่าวไม่เป็นธรรมและไม่สามารถยอมรับได้

“การเพิ่มเติมกากอ้อยเข้าไปในนิยามของผลพลอยได้นั้น ขัดต่อหลักการของข้อตกลงเดิมที่กำหนดให้โรงงานน้ำตาลเป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการกากอ้อย ถือเป็นของเสียในกระบวนการผลิต โดยโรงงานน้ำตาลได้นำกากอ้อยไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยเป็นการลงทุนของโรงงานเองทั้งหมด แต่กลับถูกบังคับให้ต้องนำรายได้จากการเพิ่มมูลค่าให้กับกากอ้อยเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์อีก” นายสิริวุทธิ์กล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า กระบวนการในการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยฯ ขณะนี้อยู่ในขั้นของกรรมาธิการที่ให้ใส่คำนิยาม “กากอ้อย” เข้าไปไว้แล้ว แต่โรงงานน้ำตาลก็อาจขอให้ “ทบทวน” เพื่อถอนคำนิยามนี้ออกได้ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง “ก็สามารถทำได้” ซึ่งในระหว่างนี้ทั้งฝ่ายโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยยังคงพยายามหาทางพูดคุยกันอยู่

“เราสามารถปรับสัดส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30 ก็ทำได้เพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ ซึ่งตามกฎหมายในมาตรา 17 (23) เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในการกำหนดอัตราส่วน แต่เราใช้ 70 : 30 กันมาโดยตลอด การจะปรับสัดส่วนก็ยาก ปัญหาตอนนี้คือ โรงงานน้ำตาลใส่เรื่องกากอ้อยก็ไม่ได้ ชาวไร่เปลี่ยน 70 : 30 ก็ไม่ยอมอีก ดังนั้น การแก้กฎหมายอ้อยฯคงเป็นมหากาพย์ต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับระยะเวลาของการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯนั้นได้เริ่มเข้าสภาวาระ 1 รับหลักการเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2563 และคณะกรรมาธิการเริ่มประชุมกรรมาธิการครั้งแรกเมื่อ 20 ม.ค. 2564 แต่ช่วงเดือน เม.ย.-ส.ค.ไม่มีการประชุมเนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เพราะการประชุมกรรมาธิการจำเป็นต้องประชุมแบบเผชิญหน้า ห้ามประชุมผ่านระบบออนไลน์จึงทำให้การพิจารณายืดเยื้อออกไปอีก

ด้านนายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 กล่าวในประเด็นกากอ้อยว่า ได้มีการหารือกับฝ่ายโรงงานน้ำตาลมาแล้ว 1 ครั้ง แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ เนื่องจากกรรมาธิการได้ใส่คำนิยามของคำว่า “กากอ้อย” ไปแล้ว ซึ่งมันเป็นการผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่าย

ดังนั้น จุดตรงกลางที่จะทำให้ทั้ง 2 พอใจที่สุดจึงเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างมีระบบของตัวเอง ยกตัวอย่าง ชาวไร่อ้อยต้องการแค่ว่า “ผลพลอยได้คือรวมทั้งหมดที่ได้จากอ้อย” จะใช้วิธีบวกราคาเพิ่มให้ต่อตันอ้อยจากสิ่งที่เรียกว่า “ผลพลอยได้เท่าไรก็ต้องระบุให้ชัดเจน”

แต่แน่นอนว่าทางฝั่งโรงงานน้ำตาลก็จะมองว่าในแต่ละปีมีการผลิตอ้อยน้อยอ้อยมากต่างกัน จะมีผลต่อรายได้รายจ่าย ดังนั้นแล้วทั้ง 2 ฝ่ายยังจำเป็นต้องเจรจากันต่อไปจนถึงที่สุด และสุดท้ายก็จะอยู่ที่กรรมาธิการพิจารณา