เปิดโผรายชื่อ 43 ที่ปรึกษาสมาพันธ์ SME ดึงทุกวงการ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แสงชัย ธีรกุลวาณิช
แสงชัย ธีรกุลวาณิช

สมาพันธ์ SME ไทย ประกาศแต่งตั้ง 43 กูรูที่ปรึกษาจากทุกวงการ ช่วยขับเคลื่อน SME วางยุทธศาสตร์ และผลักดันลดความเหลื่อมล้ำแก้ปัญหาเอสเอ็มอี

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย เปิดเผยว่า เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2564 ได้ประกาศรายชื่อที่ปรึกษาสมาพันธ์ SME จำนวน 43 คน ที่จะมาดำเนินงานวาระปี 2564-2565 ซึ่งเป็นการดึงผู้เชี่ยวชาญจากแวดวงต่าง ๆ ทุกภาคส่วนที่เป็นคลังสมอง นักบริหาร นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน ศิลปินแห่งชาติ และนักธุรกิจจิตอาสามารวมพลัง เป็นไปตามมติการประชุมกรรมการบริหาร สมาพันธ์ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา

“ที่ปรึกษาจะมีส่วนสำคัญในการช่วยวางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนสมาชิกซึ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สามารถก้าวสู่ระดับสากล และช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโต พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำแก้ปัญหาเอสเอ็มอี”

ทั้งนี้ จากสภาวะเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้ง Technology Disruption ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยทั่วประเทศ ทั้งด้านการขาดสภาพคล่อง การเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำ การบ่มเพาะให้องค์ความรู้ ความสร้างสรรค์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งระบบที่ปรึกษาพี่เลี้ยง (ไม่ใช่พี่ใหญ่ หรือ Big brother) เพื่อช่วยเหลือพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควบคู่กับการบริหารจัดการทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่กลไก มาตรการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐยังขาดการบูรณาการ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังฝังรากลึก กฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อ SME กฎหมายที่เหมือนจะมีแต่ SME ใช้ไม่ได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ แนวทางการวางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนลดความเหลื่อมล้ำของเอสเอ็มอีไทย ทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ซึ่ง 4 ความเหลื่อมล้ำที่เอสเอ็มอีไทยต้องเผชิญ คือ

1.GDP SME มีสัดส่วนเพียง 34% แต่มีจำนวนผู้ประกอบการและแรงงานรวมมากกว่า 15 ล้านคน ต้องเร่งการขยายสัดส่วนให้เกิดการเติบโตของ GDP SME มากกว่า 50%

2.สัดส่วนการส่งออก SME มีเพียง 13% ขณะที่จำนวน SME ที่อยู่ภาคการส่งออกมีเพียงไม่ถึง 1% หรือ 27,000 รายจาก SME ทั้งหมดของประเทศกว่า 3.1 ล้านราย

3.การเพิ่มขีดความสามารถ Scale up SME ให้เพิ่มทั้งมูลค่าผลิตภัณฑ์และบริการ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อสร้าง SME ที่ขับเคลื่อนด้วยฐานองค์ความรู้นวัตกรรม แบบทำได้ดี ขายได้จริง

4.การผลักดันปฏิรูประบบราชการอย่างจริงจังให้เกิดการเอื้อต่อเอสเอ็มอีในการดำเนินธุรกิจ และปรับปรุงกฎระเบียบ กฎหมายที่อุปสรรคโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม และความยั่งยืนของประเทศเป็นหลัก