กยท.ชี้ราคายางพุ่งแรงข้ามปี ดึงผู้ผลิตล้อ “มิชลิน-คอนติเนนตัล” ซื้อ

ยางพารา

ราคายาง Q4 พุ่ง หลังน้ำท่วม-โรคใบร่วง-ขาดแรงงานกรีดยาง ฉุดผลผลิตยางวูบ 1 แสนตัน “ตลาดโลกแย่งซื้อ” กยท.ชี้สัญญาณบวกถึงปี’65 ดึงบิ๊กผู้ผลิตยางล้อรายใหญ่โลก มิชลิน-คอนติเนนตัล นำร่องซื้อขายเครดิตคาร์บอน ยกระดับผลิตยางธรรมชาติเพื่อสิ่งแวดล้อม มั่นใจราคาดี จ่ายประกันรายได้ชาวสวนยางเฟส 3 แค่ 7,000 ล้านบาท

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมทิศทางราคายางปลายปี 2564 ถึงปี 2565 ปรับตัวดีขึ้น โดยปัจจุบันราคายางแผ่นดิบรมควันเฉลี่ยอยู่ที่ 53 บาทต่อ กก. น้ำยางสด 47 บาทต่อ กก. และยางก้อนถ้วย 45.02 บาทต่อ กก. (ตาราง)

จากภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า จีน อเมริกา เริ่มฟื้นตัว ความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตยางออกสู่ตลาดน้อย ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน 2564 ด้วยสภาพอากาศแปรปรวน เกิดสภาวะลานิญ่า จึงทำให้ฤดูฝนมาเร็วกว่าปกติและเป็นปีที่มีฝนมาก เกิดพายุฝนเขตร้อนซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน เเละเดือนธันวาคม ปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ 10% จึงคาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตยางที่ออกมาจริงจะลดลง 1 แสนตัน น้อยกว่าที่คาดไว้ 4.6 ล้านตัน

อย่างไรก็ตามไทยต้องระวังปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาโรคใบร่วงทำให้ผลผลิตเสียหาย การขาดแคลนแรงงานกรีดยาง ซึ่งขณะนี้ภาครัฐอยู่ระหว่างเตรียมให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าว MOU ปัจจัยนี้มีผลต่อการส่งมอบสินค้า อาจมีการเลื่อนส่งมอบ

อีกทั้งยังพบปัญหาตู้คอนเทนเนอร์และระวางเรือเต็ม ทําให้ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันที่ผันผวน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันราคายางถึงต้นปีหน้า

สำหรับความคืบหน้าการพิจารณาดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 คาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณรัฐมนตรีได้เร็ว ๆ นี้ ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ได้มีมติให้กำหนดราคาประกัน สำหรับยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม (กก.) น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กก. ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กก.

โดยยังคงกำหนดหลักเกณฑ์แบ่งสัดส่วนรายได้ให้เจ้าของสวน 60% และคนกรีด 40% ของรายได้ทั้งหมด และจำกัดให้รายละไม่เกิน 25 ไร่ สำหรับชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ กยท.ไว้ 1,880,458 ราย คาดว่าจะใช้วงเงินรวมไม่เกิน 7,000 ล้าน น้อยกว่าที่ตั้งไว้ 10,000 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ กยท.ยังส่งเสริมการทำตลาดสินค้ายาง โดยจัดทำโครงการ RUBBERWAY ร่วมกับผู้ซื้อและผู้ผลิตยางล้อรายใหญ่ของโลก คือมิชลิน และคอนติเนนตัล เพื่อนำร่องซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยให้พื้นที่ จ.สงขลาเป็นจังหวัดแรก ในเร็ว ๆ นี้ พร้อมร่วมกันในการประเมินความเสี่ยงทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของห่วงโซ่อุปทานของยางพารา เป้าหมายเพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมยางธรรมชาติของประเทศไทย

“ปีนี้ราคายางค่อนข้างดี เกษตรกรชาวสวนยางพอใจ มั่นใจว่าปีหน้าราคาจะปรับตัวดีขึ้น และอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เงินอุดหนุนแล้ว ซึ่งประกันรายได้ยางเฟส 3 ตั้งเป้าใช้งบให้น้อยที่สุดประมาณ 7,000 ล้านบาท เท่าระยะที่ 2 ส่วนปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจจะมีผลกระทบราคาแม้ว่าตอนนี้เข้าสู่โลว์ซีซั่นแต่กังวลสุดคงปัญหาแรงงานขาดแคลน อากาศแปรปรวน จะมีผลมากกว่าความผันผวนราคาน้ำมันน่าจะกระทบแค่สินค้า by product มากกว่า แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีแรงบวกจากผลผลิตที่น้อย คาดการณ์ปีหน้าอาจ over demand จะยิ่งช่วยผลักดันราคา ผมมองว่าราคายังดี และไม่น่าลดลงไปกว่านี้”

ด้านนางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กยท. ระบุว่า ความต้องการใช้ยางพาราในปีนี้มีมากกว่าการผลิต 3.29 แสนตัน โดยในเดือนกันยายน 2564 ส่งออก 3.38 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.43% เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยาง จีน อเมริกา เริ่มฟื้นตัว อีกทั้งค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าในระยะยาว และการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นแรงบวกด้านราคา

นายกฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กล่าวว่า น่ากังวลว่าช่วงที่ผ่านมาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราส่งผลต่อปริมาณการผลิตของไทยอย่างมาก ต่อผลผลิต 20-50% จึงมีมาตรการเร่งด่วน ร่วมกับ GISTDA ศึกษาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและจัดทำระบบเตือนภัยผ่านเครือข่ายออนไลน์ พ่นยาป้องกันกำจัดโรค โดยใช้อากาศยานไร้คนขับชนิดปีกหมุน (โดรน) และแอร์บล๊าส

พร้อมพัฒนาพันธุ์ยางต้านทาน เช่น BPM1 PB235 RRIT3904 โดยใช้งบฯกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (3) ปรับเปลี่ยนพื้นที่เงินทุนไร่ละ 10,000 บาท