ไทยยังเนื้อหอม 10 เดือนแรกปี’64 ธุรกิจต่างด้าวลงทุน 213 ราย ทะลุหมื่นล้าน

จดทะเบียนธุรกิจเดือนแรกยอดพุ่ง
ภาพโดย Sozavisimost from Pixabay

10 เดือน ปี 2564 พาณิชย์อนุญาตให้ต่างชาติลงทุนในไทย 213 ราย เงินลงทุนรวม 11,554 ล้านบาท จ้างงานคนไทยกว่า 5,000 คน

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่า 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ของปี 2564 คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 213 ราย เงินลงทุนรวมกว่า 11,554 ล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 5,000 คน ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก

ได้แก่ ญี่ปุ่น 82 ราย สิงคโปร์ 33 ราย และฮ่องกง 20 ราย ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ

สินิตย์ เลิศไกร
สินิตย์ เลิศไกร

ธุรกิจบริการเป็นที่ปรึกษา บริหารจัดการ และให้บริการเดินรถและซ่อมแซมบำรุงรักษารถไฟความเร็วสูง ภายใต้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินในประเทศไทย ธุรกิจบริการออกแบบทางวิศวกรรม วางระบบและทดสอบเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับโครงการศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าอัจฉริยะระหว่างประเทศ ธุรกิจบริการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านประกันภัย บริการออกแบบวิศวกรรม จัดซื้อจัดหา ก่อสร้าง ทดสอบและตรวจสอบท่อลำเลียงเชื้อเพลิงก๊าซรวมถึงสถานีควบคุมและวัดปริมาตรก๊าซธรรมชาติสำหรับโครงการไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม เป็นต้น

คาดว่าไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 นี้ จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่อนคลายให้มีการเปิดประเทศ และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ เฉพาะเดือนตุลาคม 2564 คณะกรรมการได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 28 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 703 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 745 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย

เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเงินและสินทรัพย์ดิจิทัล องค์ความรู้เกี่ยวกับคุณลักษณะของเพชร การตรวจสอบคุณภาพ และการเก็บรักษาเพชร องค์ความรู้เกี่ยวกับการติดตั้ง การตั้งค่าระบบ การซ่อมแซม การบำรุงรักษา และการปรับปรุงเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งและสภาวะทางการแพทย์อื่น ๆ โดยระบบการรักษาด้วยรังสี เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่

1.ธุรกิจนายหน้า ค้าปลีก จำนวน 3 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศอินเดีย เยอรมนี และญี่ปุ่น เงินลงทุนจำนวน 27 ล้านบาท ได้แก่ ค้าปลีกสินค้าประเภทชิ้นส่วนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รวมทั้งอุปกรณ์และชิ้นส่วนที่ใช้ร่วมกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า นายหน้าหรือตัวแทนในการจำหน่ายสินค้าประเภทอุปกรณ์เชื่อมต่อกระแสไฟฟ้า อุปกรณ์แปลงสัญญาณไฟฟ้า ตัวควบคุมระบบอัตโนมัติ

2.ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 12 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เป็นต้น เงินลงทุนจำนวน 234 ล้านบาท อาทิ บริการรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์ไอศกรีม บริการให้เช่าซื้อสินค้าประเภทเครื่องจักรกลงานก่อสร้าง บริการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง

3.ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 10 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น เงินลงทุนจำนวน 315 ล้านบาท อาทิ บริการจัดทำแผนที่ดิจิทัล (digital map) บริการให้กู้ยืมเงิน บริการทางบัญชี บริการทางกฎหมาย และกิจการโฆษณาโดยให้ใช้พื้นที่บนแอปพลิเคชั่น

4.คู่สัญญากับเอกชน จำนวน 3 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศจีน และเกาหลี เงินลงทุนจำนวน 127 ล้านบาท ได้แก่ บริการออกแบบวิศวกรรม จัดซื้อจัดหา ก่อสร้าง ทดสอบและตรวจสอบท่อลำเลียงเชื้อเพลิงก๊าซรวมถึงสถานีควบคุมและวัดปริมาตรก๊าซธรรมชาติสำหรับโครงการไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม บริการออกแบบทางวิศวกรรม จัดหาวัสดุอุปกรณ์ ก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบการทำงานของระบบ และการฝึกอบรม สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ บริการออกแบบทางวิศวกรรม จัดหาวัสดุอุปกรณ์ ก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบหม้อไอน้ำประเภทฟลูอิไดซ์เบด สำหรับโครงการพลังงานสะอาด