EA-อมิตา ไต้หวัน ผุดโรงงานแบตฯลิเทียม ดันไทยฐานผลิตรถอีวี

AMITA

เทรนด์การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว องค์ประกอบสำคัญของยานยนต์แห่งอนาคตที่จะขาดไม่ได้ คือ “แบตเตอรี่” ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจหลักและเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม new S-curve ที่นักลงทุนให้ความสนใจ

ล่าสุด บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจรที่ทันสมัยและมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดใน world class ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยขึ้นแท่นเป็นแหล่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมกักเก็บพลังงานไฟฟ้าในระดับภูมิภาค

โรงงานนี้ดำเนินการภายใต้ชื่อบริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ EA ร่วมลงทุนกับบริษัท อมิตา เทคโนโลยี อิงก์ (ไต้หวัน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในไต้หวันมากว่า 20 ปี

โครงการดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นที่เขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีอาณาบริเวณกว่า 90 ไร่ คิดเป็นพื้นที่โรงงาน 80,000 ตารางเมตร ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนชนิด pouch cell ระบบสำรองไฟฟ้าแบบครบวงจรที่ใช้ระบบอัจฉริยะ ระบบการผลิตอัตโนมัติ เริ่มต้นด้วยกำลังการผลิต 1 จิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี และสามารถขยายกำลังการผลิตสูงสุดได้ 4 จิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ทั้งยังมีความพร้อมรองรับการขยายการลงทุนได้กว่า 10 เท่า สู่กำลังการผลิต 50 จิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA กล่าวว่า โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงาน จะเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (electric vehicle) และการนำพลังงานหมุนเวียนที่มีเสถียรภาพเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้ออกแบบให้โรงงานแห่งนี้ใช้ระบบที่ทันสมัยเพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งตอบโจทย์เทคโนโลยีต่าง ๆ ในอนาคต

ทั้งนี้ แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ผลิตได้สามารถนำไปใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า และเรือโดยสารไฟฟ้า ใช้เทคโนโลยีแบบ ultra-fast charge รองรับการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ภายใน 15 นาที และชาร์จได้ถึง 3,000 รอบ ทำให้สามารถใช้งานได้อย่างคุ้มค่า

ที่สำคัญในการผลิตแบตเตอรี่แห่งนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะจะไม่มีส่วนประกอบของสารที่เป็นอันตราย เช่น กรดหรือตะกั่ว และใช้เทคนิคพิเศษในการผลิตเซลล์เพื่อให้สามารถคัดแยกแผ่นขั้วบวกและขั้วลบได้ง่ายในขั้นตอนของการรีไซเคิลเมื่อแบตเตอรี่หมดอายุใช้งานด้วย

“จะลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม โดยในการผลิตขนาด 1 จิกะวัตต์ หรือ 1,000,000 กิโลวัตต์ สามารถนำมาใช้ในรถโดยสารไฟฟ้าขนาด 11 เมตร ซึ่งขับเคลื่อนได้ระยะทางสูงสุด 240 กิโลเมตร ได้ถึง 4,160 คันต่อปี และการใช้รถโดยสารไฟฟ้า 4,160 คัน สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 91,709 ตันต่อปี และลดปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลได้ 97,066,667 ลิตรต่อปี เมื่อเทียบกับรถโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันดีเซล”

นอกจากนี้ EA ยังมองถึงการขยาย supply chain ให้กว้างขึ้น โดยสร้างหอกลั่นสาร solvent ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเซลล์แบตเตอรี่เพื่อทำให้บริสุทธิ์จนสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทำให้มีของเสียน้อยลง และลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ

อีกทั้งยังได้สร้างโรงงานผลิตสาร electrolyte ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่สำคัญที่เป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพของเซลล์แบตเตอรี่ใช้เองรายแรกในภูมิภาคอาเซียน ประกอบกับมีทีม In House R&D ทำให้สามารถนำสาร electrolyte ที่ผลิตเสร็จมาทดสอบในเซลล์แบตเตอรี่เพื่อวัด performance ได้ทันที และสามารถคิดค้นพัฒนาสูตรเองให้ดียิ่งขึ้นตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังนำระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ที่บริษัทผลิตได้เองมาใช้เป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าสำรองและออกแบบให้มีโรงงานรีไซเคิลเพื่อลดขยะเป็นพิษครบวงจร เป็นจุดแข็งของโครงการ เสริมศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่ง new S-curve ตามยุทธศาสตร์ประเทศได้