บีโอไอเขย่ายุทธศาสตร์ลงทุน ฝ่าปัจจัยเสี่ยง “ขาดแรงงาน-โอไมครอน”

บีโอไอ
แฟ้มภาพ

BOI เขย่ายุทธศาสตร์ลงทุนฉบับใหม่ปี’65 เตรียมรื้อมาตรการภาษีหวังตอบโจทย์ดึงดูดนักลงทุน ตั้งเป้าหมายดึงลงทุน ไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้าน หลังบอร์ดบีโอไอต่ออายุ 4 มาตรการยาวไป 1 ปี มั่นใจปัจจัยบวกเศรษฐกิจโลกฟื้น ส่งออกดีหนุนลงทุน แต่ไม่ประมาทจับตาปัจจัยเสี่ยง “โอไมครอน-ขาดแรงงาน”

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอที่ดำเนินการมาเป็นเวลา 7 ปีจะสิ้นสุดในปี 2564 ทางบีโอไอจะทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่ว่ามาตรการใดที่ได้ผลกับไม่ได้ผล เช่น อัตราการเก็บภาษีขั้นต่ำของผู้ลงทุนรายใหญ่ต้องมีการพิจารณาหาแนวทางปรับอย่างไร รวมถึงอาจจะมีหลายมาตรการที่จะต้องนำมาพิจารณาเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายจะต้องสามารถแข่งขันในการดึงดูดการลงทุนให้ได้

โดยแนวโน้มการลงทุนในปี 2565 ทางบีโอไอยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายแต่คาดว่าการลงทุนจะดีขึ้นจากปีนี้ และจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท เพราะมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศขยายตัว การส่งออกขยายตัวดีเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการลงทุนเพิ่มเพื่อขยายการผลิตรองรับคำสั่งซื้อและความต้องการจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร BCG ดิจิทัล พลังงานทดแทนที่ขยายตัว

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการลงทุนโดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต และการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจ

สำหรับภาพรวมการขอรับส่งเสริมการลงทุนในปีนี้ คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 6 แสนล้านบาท โดยในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน ) 2564 คำขอรับส่งเสริมการลงทุน 520,680 ล้านบาทแล้วในช่วงไตรมาสสุดท้าย หากทำได้เพียง 79,320 ล้านบาทก็จะเป็นไปตามเป้าหมาย

ซึ่งแม้การอนุมัติโครงการจะมีจำนวนน้อยแต่ก็มีหลายโครงการที่ไม่ต้องผ่านบอร์ดบีโอไอ หมายถึงโครงการฟาสต์แทร็ก ซึ่งจะสามารถเสนอและพิจารณาผ่านอนุกรรมการได้เพื่อเร่งรัดให้เกิดการลงทุนนั้น ในช่วง 11 เดือนแรก (มกราคม-พฤศจิกายน) ปี 2564 มีคำขอส่งเสริมที่เข้าข่ายประมาณ 69 โครงการ คิดเป็นเม็ดเงินลงทุน 290,000 ล้านบาทแล้ว

ในส่วนของมาตรการส่งเสริมการลงทุนในปี 2565 นั้น ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาใช้มาตรการการส่งเสริมการลงทุนเดิมซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำขอภายในปี 2564 ออกไปอีก 1 ปี หรือภายในสิ้นปี 2565 ทั้งหมด 4 มาตรการ คือ

1) มาตรการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้ามาในระบบโดยเฉพาะกิจการโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โดยมาตรการนี้มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นโครงการลงทุนที่มีเทคโนโลยี ใช้เงินลงทุนอย่างน้อย 1,000 ล้านบาทภายใน 12 เดือนหลังจากที่มีการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน ห้ามขยายเวลาและตอบรับมติออกบัตร ซึ่งกิจการดังกล่าวจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% เป็นระยะ 5 ปีขึ้นไป

ขณะที่ 2) มาตรการการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะขยายออกไปจนถึงปี 2565 เช่นกัน โดยกรอบเงื่อนไขการส่งเสริมยังคงกรอบเดิม จากเหตุที่ขยายไปเพียง 1 ปี เพราะบีโอไอจะออกนโยบายใหม่เนื่องจากยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนเดิมจะครบกำหนดในปี 2565

สำหรับมาตรการ EEC นั้นให้สิทธิเพิ่มเติมสำหรับโครงการที่อยู่ในกิจการเป้าหมาย ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ได้ลดหย่อนภาษีเงินได้ 5 ปีขึ้นไป จะได้เพิ่มอีกคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น การรับนักศึกษาฝึกงานอย่างน้อย 10% หรืออย่างน้อย 40 คนในโครงการที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเขตส่งเสริมพิเศษ EEC และเขตที่มีการส่งเสริมพิเศษก็จะได้สิทธิเพิ่ม

3) มาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี โดยไปตามประกาศของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นเขตส่งเสริมการลงทุนเพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยมีพื้นที่ศูนย์กลางนวัตกรรมและการวิจัยทางการแพทย์ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี

โดยเฉพาะเทคโนโลยีเชิงลึก (deep tech) ระหว่างผู้ประกอบการกับสถาบันหรือหน่วยงานของภาครัฐ เช่น สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ และสถาบันวิจัย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ประมาณ 2.2 ตารางกิโลเมตร แถวรามาฯ ซึ่งมีการกระจุกตัวของโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งต้องการส่งเสริมให้เกิดการลงทุน

โดยกำหนดเงื่อนไขของการส่งเสริมโดยเป็นกิจการเป้าหมาย เช่น ไบโอเทค การออกแบบนวัตกรรมต้องตั้งอยู่ในพื้นที่นี้และต้องร่วมมือกับสถาบัน การวิจัย เป็นต้น และหากดำเนินการได้จะได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ

4) มาตรการกำหนดเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มเติม ปัจจุบันเขตพื้นที่ส่งเสริมมี 3 เขต และเพิ่มเติมอีก 2 เขตตามที่มีมติเห็นชอบ คือ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology : AIT) และอาคารศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีประยุกต์สู่ SMEs สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ณ เทคโนธานี เป็นเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่รองรับการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาและการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการวิจัย

โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น การผลิตชิ้นส่วนระบบราง การผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้าหรือยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมและบริการ โดยผู้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ คือ ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี หรือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 2 ปีขึ้นอยู่กับประเภทกิจการ