แล้งนี้ ลุ่มเจ้าพระยา น่าห่วง “ภูมิพล-สิริกิติ์” เหลือน้ำรวมกันแค่ 33%

เขื่อนป่าสักฯ

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของประเทศในภาพรวมปัจจุบัน แม้จะมีปริมาตรน้ำในอ่าง 56,753 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับปี 2564 (46,331 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 61) หรือมากกว่า 10,422 ล้าน ลบ.ม.

แต่เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดเฉพาะลุ่มน้ำสำคัญของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเพาะปลูกข้าว เป็นที่ตั้งของจังหวัดสำคัญกลับพบว่า

ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักทั้ง 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์ รวมกันกลับมีปริมาณน้ำใช้การได้ “ต่ำกว่าครึ่ง” หรือ 7,029 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 39 เท่านั้น ส่งผลให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ต้องบริหารจัดการน้ำรับมือกับฤดูแล้งที่จะมาถึงในอีก 3 เดือนข้างหน้านี้

ภูมิพล-สิริกิติ์น้ำใช้การน้อย

นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ กล่าวว่า ต้องจับตาสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด แม้ว่าปริมาณฝนโดยรวมในปี 2564 ที่ 1,735 มม. หรือ +9% จะสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 1,588 มม.ก็ตาม โดยภาคเหนือปริมาณฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ย 13% (ธ.ค. 1,401 มม.) แต่เนื่องจากพฤติกรรมการตกของฝนเปลี่ยนแปลงไปจากภาวะโลกร้อน แม้ฝนจะตกมาก แต่ไปตกใต้เขื่อน ซึ่งมีผลต่อปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์โดยตรง

“พฤติกรรมการตกของฝนในช่วงปีที่ผ่านมาแปลกมาก ร่องฝนพอขึ้นไปถึงภาคเหนือจะวิ่งเข้าไป สปป.ลาวและจีนเลย มันเหมือนกับว่า ร่องฝนวิ่งผ่านภาคเหนือเร็วมาก ฝนตกแค่ 3-4 วันเท่านั้น แต่ตกหนักระดับ 400 มม./วัน เป็นฝนแบบตกสั้น แต่ตกแรง ทำให้เขื่อนอ่างเก็บน้ำที่อยู่เหนือจังหวัดตากขึ้นไปมีปริมาณน้ำในอ่างเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น กิ่วลม กิ่วคอหมา แควน้อยบำรุงแดน หรือแม่มอก ปริมาณน้ำใช้การได้สูงกว่าระดับร้อยละ 80 ขึ้นไปทั้งสิ้น ยกเว้น อ่างที่อยู่ต่ำกว่าจังหวัดตากลงมา อาทิ ภูมิพล น้ำน้อย ฝนไปตกใต้เขื่อนหมด” นายชวลิตกล่าว

ภาคอีสาน ปริมาณฝนเดือนธันวาคมอยู่ที่ 1,449 มม. สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 1,405 มม. หรือร้อยละ 3 พฤติกรรมการตกของฝนเป็นหย่อม ๆ ตกแรง ที่ผ่านมาได้รับน้ำจากพายุเตี้ยนหมู่ (ฝนเฉลี่ย 111-266 มม. ระหว่างวันที่ 24-25 ก.ย. 2564) ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก อาทิ จุฬาภรณ์ (น้ำใช้การ 115 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 91) อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ลำพระเพลิง-ลำตะคอง-มูลบน-ลำแชะ-ลำนางรอง ปริมาณน้ำ
ใช้การอยู่ในเกณฑ์มากกว่าร้อยละ 90 ถือว่าน้ำดี ไม่น่ามีปัญหาสำหรับแล้งหน้า

ภาคกลาง ปริมาณฝนตกเดือนธันวาคมอยู่ที่ 1,380 มม. หรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีร้อยละ 8 แต่ก็ยังถือว่าไม่สูงเท่า กับ ปี 2560 ที่ฝนเฉลี่ย 1,630 มม. จากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ ทำให้พื้นที่ในจังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี ได้รับน้ำดี ยกเว้นภูมิพล-สิริกิติ์ น้ำน้อยไม่พอใช้แน่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแน่ ส่วนปริมาณฝนในภาคตะวันออกกับภาคตะวันตก “ดีมาก” เกือบแตะเส้นสูงสุด โดยภาคตะวันออกอยู่ที่ 2,238 มม. หรือ +18% จากค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 1,889 มม. ที่จันทบุรี-ตราดตกถึง 400 มม.

ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก ๆ ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นป่าสักชลสิทธิ์ น้ำใช้การได้ 803 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 84 บางพระ-หนองปลาไหล-ประแสร์ ดีหมด น้ำในอ่างอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 80-90 ถือว่าดีหมด ในฤดูแล้งเดือนเมษายนปีนี้ไม่น่ามีปัญหา ส่วนภาคใต้และภาคตะวันตกปริมาณฝนตกก็อยู่ในเกณฑ์ดี และยังมีโอกาสที่จะได้รับน้ำในช่วงนี้จากอิทธิพลของพายุในฝั่งตะวันตก มีแต่เขื่อนบางลางเท่านั้นที่ปริมาณน้ำใช้การได้ยังอยู่ในระดับร้อยละ 71

ต้องผันน้ำจากแม่กลองมาช่วย

สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในลุ่มเจ้าพระยา (ตารางประกอบ) ซึ่งวางแผนเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 นั้น นายชวลิตให้ความเห็นว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในฤดูแล้งหน้า “น่าเป็นห่วงมาก” เนื่องจากปริมาณน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำหลักภูมิพล-สิริกิติ์ 2 อ่างรวมกันมีน้ำแค่ 5,445 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 33 (ณ วันที่ 11 ม.ค. 2565) ถึงจะรวมอีก 2 อ่างในเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน กับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ก็จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ 7,029 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 39 เท่านั้น ซึ่งจะมีปัญหาในการจัดการน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ปลูกข้าวทั้ง 2 ฝั่งเจ้าพระยานับตั้งแต่เดือนมกราคมนี้แน่

“ที่น่าห่วงก็คือ ปริมาณใช้การได้น้ำจาก 4 เขื่อนหลักขนาดนี้เหลือไม่ถึง 40% แล้ว แต่ยังต้องใช้น้ำไปอีกถึง 4 เดือนกว่าจะเข้าฤดูฝนปี 2565 ตามแผนต้องจัดสรรน้ำให้กับลุ่มน้ำเจ้าพระยา แบ่งเป็น การเกษตร (2,415 ล้าน ลบ.ม.)-การอุปโภคบริโภค (1,150 ล้าน ลบ.ม.) เป็นลำดับแรก ๆ ต่อมาจะจัดสรรน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศและการผลักดันน้ำเค็ม (2,000 ล้าน ลบ.ม.) ไม่ให้ขึ้นมาถึงสำแล แหล่งน้ำดิบของการประปานครหลวง

โดยตอนนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าปริมาณน้ำในเขื่อนทั้ง 4 อาจจะไม่พอในการผลักดันน้ำเค็มช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง จึงมีการตกลงกันว่าให้ผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองเข้ามาช่วยอีก 1,000 ล้าน ลบ.ม. เริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. ผ่านทางเครือข่ายระบบคลองฝั่งตะวันตกเข้ามาที่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยผลักดันน้ำเค็ม ส่วนการจัดสรรน้ำเพื่ออุตสาหกรรมใน 22 จว.ลุ่มเจ้าพระยาที่ปริมาณ 135 ล้าน ลบ.ม. (1 พ.ย.-30 เม.ย. 65) นั้นจะน้อยไปหน่อย อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงาน-นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็จะเกิดปัญหาได้” นายชวลิตกล่าว

ส่วนการปลูกข้าวในลุ่มเจ้าพระยา ณ วันที่ 11 มกราคมอยู่ที่ 3,590,000 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของแผน

ภาคใต้ยังเจอลานิญาต่อ

ด้านสถานการณ์ลานิญา (ฝนมาก น้ำมาก) ที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำทะเลในแปซิฟิกมาตั้งแต่กลางปี 2564 นั้น จากแบบจำลองล่าสุดของ NORR หรือ IRI/CPC Pacific Nino 3.4 SST ล่าสุดบ่งชี้ว่า 1) ภูมิอากาศปัจจุบันยังอยู่ในสภาวะลานิญา (ฝนมาก น้ำมาก) อุณหภูมิของผิวน้ำทะล ณ จุดต่าง ๆ ในเขตศูนย์สูตรตอนกลางและด้านตะวันออกตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก มีค่า “ต่ำกว่า” ค่าเฉลี่ยของปีปกติ ดังนั้นทำให้ภูมิอากาศแบบลานิญามีโอกาสเกิด 90% ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และมีโอกาสแค่ 50% ที่จะเกิดฝนมาก น้ำมาก ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2565

“สถานการณ์ลานิญาจะมีผลต่อปริมาณฝนตกหนักในภาคใต้ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ด้านฝั่งตะวันตกอาจได้รับอิทธิพลของพายุไซโคลนไปจนถึงปลาย ๆ เดือนพฤษภาคม จะมีฝนลดลงเหลือร้อยละ 50” นายชวลิตกล่าวสรุปสถานการณ์ลานิญาในครึ่งปีนี้