กล้าทิพย์ สู้คอนเทนเนอร์แพง ลุยส่งออกข้าวขึ้นรถไฟจีน-ลาว

พีรพล ประเสริฐชัยกุล
สัมภาษณ์พิเศษ

กลายเป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงในวงการค้าข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงความสามารถของ “กล้าทิพย์” บริษัทผู้ส่งออกรุ่นใหม่ ที่ประเดิมทำตลาดส่งออกข้าวหักเหนียวสู่ประเทศจีนด้วยเส้นทางรถไฟใหม่เอี่ยมจาก สปป.ลาวสู่คุนหมิง กล้าทิพย์กล้าเปลี่ยน พลิกวิกฤตการขาดแคลนและการปรับราคาตู้คอนเทนเนอร์ สู่โอกาสการรักษาฐานลูกค้าตลาดจีน “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “พีรพล ประเสริฐชัยกุล” กรรมการผู้จัดการบริษัทกล้าทิพย์ ถึงภาพรวมการทำธุรกิจข้าวปี 2565

ธุรกิจกล้าทิพย์

บริษัทกล้าทิพย์ เดิมเป็นทั้งโรงสีข้าวที่มีขนาดการผลิต 400 ตันต่อวันข้าวเปลือก และเป็นผู้ผลิตข้าวสารบรรจุถุง โดยใช้แบรนด์กล้าทิพย์ และล้อบิน และพัฒนามาเป็นผู้ส่งออกข้าว ที่มีการส่งออกข้าวทุกชนิด ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวหักเหนียว ไปยังตลาดหลักต่าง ๆ มีทั้งสหภาพยุโรป จีน และประเทศในเอเชียอื่น ๆ โดยปกติเรามีสัดส่วนในการทำตลาดส่งออกประมาณ 60% และตลาดในประเทศประมาณ 40%

“เราเป็นทายาทรุ่นที่สองที่มารับไม้ต่อในธุรกิจโรงสี ส่วนตัวจบจากด้านบัญชีมา เราคลุกคลีและมองว่าธุรกิจนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องทำ การทำข้าวให้คนกิน คัดข้าวที่มีคุณภาพดีให้ผู้บริโภคเป็นเป้าหมายของเรา เพราะถึงแม้ว่าทุกคนจะมองว่าธุรกิจโรงสีเป็นธุรกิจขาลง แต่ส่วนตัวเรายังมองว่าเรื่องข้าวเป็นปัจจัยสี่คงไม่ล้มหายตายจากไปไหน และมองว่าทุกธุรกิจก็มีหนทางรอดของมันเอง”

ลูกค้าจีนออร์เดอร์มาตรง

สำหรับคำสั่งซื้อจีนลอตนี้ บริษัทเราได้รับการสั่งซื้อจากผู้นำเข้าจีน ลอตแรกเป็นข้าวหักเหนียวปริมาณ 500 ตัน ตอนนั้นการส่งออกไทยมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และมีการปรับค่าระวางเรือสูงมาก แต่ด้วยความที่ลูกค้าเรามีความจำเป็นต้องการใช้สินค้า เราจึงตัดสินใจเลือกเปลี่ยนเส้นทางมาเป็นรถไฟจีน-ลาว โดยหารือกับทางลูกค้าเพื่อให้ช่วยดำเนินการเรื่องนี้ เพราะส่งออกเป็นราคาเอฟโอบี

กระบวนการตรวจสอบ

เราเป็นผู้ส่งออกกลุ่มแรก ๆ ที่ผ่านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานจากทางการจีน อยู่ในจำนวน 49 ราย ระบบการส่งออกข้าวไปจีนปกติทางจีนจะให้ผู้ส่งออกไทยแจ้ง เพื่อขึ้นทะเบียนและขอรับการตรวจสอบจากบริษัทเซอร์เวเยอร์จีนที่อยู่ในประเทศไทย หรือที่รู้จักในชื่อ CCIC และมีการส่งออกไปจีนอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปี

“เรามองว่าเส้นทางรถไฟจีน-ลาวจะเป็นประตูจากอีสาน ทำให้มีโอกาสในการขยายการค้ามากขึ้นโดยเฉพาะผู้ส่งออกหรือโรงสีจากทางภาคอีสานก็จะไม่ต้องเสียค่าขนส่งในการขนส่งไปที่ท่าเรือแหลมฉบังหรือคลองเตย แต่สามารถที่จะลากตู้ขนไปที่ลาวขึ้นรถไฟไปคุนหมิงซึ่งก็จะอยู่ใกล้กับตลาดข้าวของเรา”

ขั้นตอนการส่งออก

กระบวนการก็มีการลากตู้คอนเทนเนอร์มาขึ้นข้าวที่บริษัท ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดหนองบัวลำภู จากนั้นก็ลากไปส่งที่เวียงจันทน์ เพื่อขึ้นรถไฟที่สถานีท่านาแล้งส่งออกไปคุนหมิง โดยมีการตรวจสอบที่ด่านลาวอีกรอบ

สำหรับผู้ส่งออกสนใจจะปรับมาใช้เส้นทางนี้จะต้องมีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน เพราะในช่วงแรกของการขนส่งอาจจะมีขลุกขลักบ้างในเรื่องของการส่งผ่านและการตรวจสอบ ที่อาจจะยังไม่มีความชำนาญ แต่ตอนนี้เราทราบว่าผู้ส่งออกสินค้าเกษตรหลายรายไม่ใช่แค่ข้าว แต่ยังมีผลไม้ก็มีการส่งออกไปบ้างแล้ว

และในส่วนของทางลาวก็มีการส่งออกข้าวเหนียวไปยังประเทศจีนบ้าง แต่ไม่มากนัก โดยลาวจะส่งข้าวต้องลากตู้จากแหลมฉบังไปที่ลาว ส่วนไทยถือเป็นการผ่านแดน

รถไฟคุ้มกว่าตู้คอนเทนเนอร์

“ปัจจุบันเรื่องค่าขนส่งเรายังไม่สามารถบอกราคาได้ว่ามีอัตราตู้ละเท่าไหร่ เพราะการคำนวณราคาต่าง ๆ ทางผู้นำเข้าเป็นผู้จัดหาได้เป็นผู้เจรจา ซึ่งแต่ละลอตจะไม่เท่ากัน ดังนั้น การประเมินเพื่อที่จะส่งออกก็ต้องมีการประเมินเป็นลอต ๆ หากถามว่าคุ้มไหม ผมก็มองว่าคุ้มค่า เพราะโดยปกติหากเราส่งออกจากบริษัทไปขึ้นท่าเรือที่แหลมฉบังและส่งไปจีนจะใช้เวลา 5-7 วัน แต่กรณีนี้การส่งผ่านรถไฟจะใช้เวลาประมาณ 3 วันจะถึงบริษัทของลูกค้า”

แต่พอมีเส้นทางนี้มา เรามองว่าเส้นทางรถไฟจีน-ลาวจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่เข้ามาช่วยในช่วงที่ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนและมีราคาสูง จึงมองว่าในปีนี้แนวโน้มธุรกิจกล้าทิพย์น่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา

สถานการณ์การค้า-ผลิตข้าว

ยังประเมินได้ยาก อย่างราคาข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้น แต่ถ้าถามเราว่าปลูกมากหรือปลูกน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เราไม่สามารถประเมินได้ ส่วนข้าวเหนียวราคายังยืน อย่างตอนกลางปี’64 ข้าวเหนียวราคาตก แล้วพอมาถึงต้นปี 2565 ราคาข้าวเหนียวปรับสูงขึ้น ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาข้าวเหนียวเกิดจากอะไร ไม่ใช่เรื่องการเปิดประเทศ เพราะยังไม่ได้มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากนัก

“ปกติสถานการณ์ราคาข้าวก็จะปรับขึ้นเดือนมกราคม และจากนั้นค่อย ๆ ลดลงในเดือนมีนาคม-เมษายน เพราะจะเป็นช่วงที่ผลผลิตนาปรังใกล้ออกสู่ตลาด ซึ่งปีนี้ต้องประเมินอีกครั้ง ผมมองว่าตัวเองเป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง

เราไม่ได้มองถึงขนาดว่าจะเก็งกำไร ถ้าข้าวลงเราต้องซื้อเก็บไว้เพื่อขายในอนาคต แต่เราก็ใช้หลักการเดิมในการทำธุรกิจคือ ถ้าสต๊อกได้ 100,000 ตัน ถึงราคาข้าวจะลดลงเราก็ไม่ได้สต๊อกเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 ตัน ฉะนั้น ไม่ว่าจะขาดทุนเราก็ไม่ได้ขาดทุนมาก หรือถึงแม้ว่าจากกำไรเราก็ไม่กำไรมากแต่เราสามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้”