เทหมดหน้าตักสู้น้ำมันแพง ลดภาษีดีเซล-ดึงเงินกู้โปะกองทุน

ปั๊มน้ำมัน

รัฐบาลเทหมดหน้าตักแก้เกม “น้ำมันแพง” กระทบเป็นลูกโซ่ ส่งผ่านต้นทุนธุรกิจขยับ ดันค่าครองชีพพุ่งไม่หยุด รมว.คลัง เผยกระทรวงพลังงานชง ครม.สัปดาห์หน้า ออกแพ็กเกจพยุงราคาพลังงานทุกมิติ เตรียมงัดมาตรการ “ลดภาษีน้ำมันดีเซล” เข้ามาช่วยอุ้ม นายกฯยอมแลกสูญรายได้รัฐหมื่นล้าน พร้อมดิ้นหาเงินใส่กองทุนน้ำมันฯทุกทิศทุกทาง เปิดทางดึง พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านมาโปะ ขณะที่สถานะเงินกองทุนติดลบเพิ่มเป็น 1.8 หมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบตึงตัว โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส ณ วันที่ 11 ก.พ. 2565 อยู่ที่ระดับ 90 เหรียญต่อบาร์เรล ขณะที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มที่จะพุ่งไปทะลุ 100 เหรียญต่อบาร์เรล ผลจากราคาน้ำมันดิบโลกที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

และการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบยังส่งผลทำให้ราคาก๊าซ-ถ่านหินปรับสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะกระทบไปถึง “ค่าไฟฟ้า” ภายในประเทศจะต้องปรับขึ้น เรียกว่าผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังประชาชนและภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องแบกรับต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้น สะท้อนจากระดับเงินเฟ้อในเดือน ม.ค. 65 อยู่ที่ 3.23% พุ่งสูงขึ้นอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน

ขุนคลังรับเตรียมลดภาษีน้ำมัน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า การดูแลค่าครองชีพเพื่อบรรเทาภาระประชาชนโดยเฉพาะเรื่องราคาพลังงานนั้น ขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งพิจารณามาตรการอยู่ โดยคาดว่ากระทรวงพลังงานจะเสนอแพ็กเกจมาตรการดูแลราคาพลังงาน ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์ข้างหน้านี้ ซึ่งจะมีแนวทางการดูแลทั้งหมด รวมถึงภาษีสรรพสามิตด้วย ภายใต้นโยบายของรัฐที่ต้องการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร

อย่างไรก็ดี กระทรวงพลังงานจะพิจารณาขีดความสามารถของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย ซึ่งยังมีเพดานการกู้เงินได้อีก 2 หมื่นล้านบาท ส่วนจะเพียงพอในการพยุงราคาน้ำมันหรือไม่นั้น ก็ต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกอย่างใกล้ชิดด้วย

“หากวงเงินกู้เต็มเพดานแล้วก็จะพิจารณาการใช้เงินจากส่วนอื่น ๆ เข้ามาดูแล ได้แก่ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ซึ่งยังมีวงเงินเหลืออยู่ แต่จะต้องเข้าไปดูในแง่กฎหมายว่าสามารถทำได้หรือไม่ รวมถึงพิจารณาในส่วนของงบประมาณด้วย” นายอาคมกล่าว

นายกฯยอมแลกสูญหมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม อยากให้ลดภาษีน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ 5.35 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยตรึงราคาน้ำมันไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินระดับหลายหมื่นล้านบาทตลอดโครงการ และจะประเมินสถานการณ์ใหม่ทุก 2 เดือน

“ตอนนี้ระดับนโยบายตัดสินใจแล้วว่าจะต้องลดภาษีน้ำมันด้วย โดยให้เหตุผลว่า ตอนนี้การจัดเก็บรายได้รัฐเริ่มดีขึ้น ไม่ได้ต่ำกว่าเป้าเหมือนที่ผ่านมา” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่การกู้เงินของกองทุนน้ำมันฯ แหล่งข่าวกล่าวว่า เดิมวางแผนไว้ว่าจะกู้ในเดือน พ.ค. 2565 โดยตั้งกรอบวงเงินไว้แล้ว 20,000 ล้านบาท เมื่อครั้งมีการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 1 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งระหว่างนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกัน โดยกระทรวงการคลังเข้าไปช่วยกองทุนน้ำมันฯ ในการพูดคุยกับสถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้ เนื่องจากกองทุนไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการกู้

เร่ง สตง.รับรองงบฯกองทุน

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมายังไม่สามารถเดินหน้ากู้เงินได้ เนื่องจากติดปัญหาที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยังไม่รับรองงบฯของกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งล่าสุดได้มีการพูดคุยกับ สตง.ให้เร่งรัดแล้ว

“เดิมจะกู้เดือน พ.ค. แต่พอราคาน้ำมันดิบโลกสูงขึ้นอีก เงินกองทุนก็จะหมดเร็วขึ้น จึงเร่งเตรียมการกู้เร็วขึ้น แต่ก็ติดประเด็นที่ สตง. ยังไม่เซ็นรับรองงบฯของกองทุนอีก ส่วนธนาคารที่จะปล่อยกู้ให้กองทุนน้ำมันฯ คงเป็นธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน และอาจจะรวมถึงธนาคารกรุงไทยด้วย”

ออมสินชี้ขึ้นกับนโยบายรัฐ

แหล่งข่าวจากธนาคารออมสินกล่าวว่าที่ผ่านมาออมสินยังไม่ได้รับจดหมายเชิญเข้าร่วมประมูลปล่อยสินเชื่อให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหลักการในการปล่อยสินเชื่อ ออมสินก็ต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของกองทุนน้ำมันฯด้วย หากมีความสามารถก็จะพิจารณาอีกครั้งแต่หากไม่มีความสามารถเลยก็จะขึ้นกับนโยบายของรัฐ

“ถ้านโยบายของรัฐจะให้ออมสินปล่อยกู้ให้กับกองทุนน้ำมันฯ ก็ต้องสั่งการมาจาก ครม. ซึ่งออมสินก็พร้อมที่จะเข้าไปดูแล แต่ขณะนี้กองทุนน้ำมันฯยังไม่ได้ขอสินเชื่อเข้ามา” แหล่งข่าวกล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์รายหนึ่งกล่าวว่า กรณีการปล่อยสินเชื่อให้กองทุนน้ำมันฯเข้าใจว่าจะมีธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน เป็น 2 ธนาคารหลักในการปล่อยกู้ ส่วนที่เหลืออาจจะต้องมาดูว่าใครจะสนใจและเสนออัตราดอกเบี้ยต่ำกว่ากัน เพราะตอนนี้แบงก์ก็สภาพคล่องเหลือ และการปล่อยสินเชื่อกรณีนี้ก็ได้รับการค้ำประกันจากคลังด้วย ก็น่าจะมีการเสนอดอกเบี้ยแข่งกัน คาดว่าดอกเบี้ยปล่อยกู้น่าจะอยู่ที่ 2-3% ต่อปี

สุพัฒนพงษ์ ยอมรับ “ล่อแหลม”

ขณะที่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 มีการพิจารณากระทู้ถามสดเรื่อง “วิกฤตน้ำมันราคาแพง และแนวทางแก้ไข” โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่า สถานการณ์ขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่ล่อแหลม เกือบจะเป็นวิกฤตอยู่แล้ว

“เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอุปสงค์ความต้องการน้ำมันเติบโตอย่างรวดเร็ว จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก และความตึงเครียดในการเมืองระหว่างประเทศ มีอากาศหนาวเย็นเข้ามา และกำลังการผลิตของโอเปกพลัสที่ปรับขึ้นแค่ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ทั้งที่ควรจะผลิตในอัตราที่เท่ากับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19”

ข้อมูลที่ปรากฏตั้งแต่ธันวาคม 2564 จนถึงวันนี้ น้ำมันดิบขึ้นมา 4 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลขึ้นมาเกือบ 6 บาทต่อลิตร เบนซินขึ้นมา 5 บาท เป็นเหตุที่จำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติม สำหรับที่ทำไปแล้วคือตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งตอนนี้กองทุนอุดหนุนลิตรละ 3.79 บาท เงินไหลออก 7 พันล้านบาทต่อเดือน

แจงทำสารพัดมาตรการ

นายสุพัฒนพงษ์ชี้แจงว่า ขณะที่ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการตรึงราคาก๊าซแอลพีจีไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ช่วงโควิดระบาด เพื่อที่จะให้ช่วงวิกฤตจากการแพร่ระบาดผ่านพ้นไปได้ โดยที่ประชาชน พ่อค้าแม่ค้าใช้ก๊าซหุงต้มในราคาไม่สูง และเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจต่อไปได้ ซึ่งใช้เงินจำนวน 2 หมื่นกว่าล้านบาท เมื่อเราใช้เงินกองทุนขนาดนี้ จนถึงวันนี้ กองทุนน้ำมันฯติดลบไปแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท และยังเตรียมที่จะกู้เงินอีก 2-3 หมื่นล้านบาท อยู่ในกระบวนการกู้เงิน และเชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหา

สำหรับข้อเสนอแนะต่อการลดส่วนผสมของน้ำมันชีวภาพนั้น รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการใหม่ ๆ เพื่อดูแลประชาชน โดยทำเป็นขั้นตอน จากที่ผ่านมาบี 10 ลดเหลือบี 7 วันนี้เหลือบี 5 ถ้าลดลงพรวดพราดจะกระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน เมื่อลดลงมาถึงบี 5 ราคาปาล์มน้ำมันอยู่ที่ 11 บาท ซึ่งอยู่ในระดับที่ไม่กระทบเกษตรกรมากจนเกินไป แต่ลดภาระให้กับผู้ใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วได้ระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ยังรักษารายได้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน นอกจากนั้นยังมีการลดสัดส่วนกองทุนอนุรักษ์พลังงานเคยเก็บ 25 สตางค์ต่อลิตร วันนี้ลดลงมาเกือบจะไม่เหลือแล้ว

นายกฯสั่งแก้ปัญหาต้นทุนค่าไฟ

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ราคาขายปลีกน้ำมันหน้าสถานีบริการของประเทศไทย ในอันดับที่ 6-7 ของ 8 ประเทศในกลุ่มอาเซียน (ยกเว้นบูรไน และมาเลเซีย มีแหล่งพลังงานของตนเอง) ซึ่งราคาน้ำมันเราไม่ได้แพงที่สุด หมายความในยามที่เกิดเหตุการณ์กึ่งวิกฤตแบบนี้ ระดับราคาที่เราตั้งและเราตรึงก็ยังทำให้รักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันยังรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ ไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ยืนยันว่าสิ่งที่รัฐบาลได้คำนึงและทำอย่างดีที่สุด ที่จะรักษาเสถียรภาพให้ทุกอย่างเดินไปได้ และรักษาความมั่นคงของประเทศ

สำหรับค่าไฟฟ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) สั่งการให้พิจารณาในระยะสั้นเพื่อลดการนำเข้าแอลเอ็นจีที่มีราคาแพง โดยใช้วิธีผลิตอื่น เช่น ขยายต่ออายุโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 ปี แม้กระทบสิ่งแวดล้อมแต่มีพื้นที่ไม่มาก รับซื้อไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มมากขึ้น โดยให้ร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

กองทุนน้ำมันฯ ดิ้นหาเงินกู้

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า ความคืบหน้าแผนการกู้เงินเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วงเงิน 20,000 ล้านบาท เดิมกำหนดเป้าหมายจะได้เงินกู้เข้ากองทุนคือ เดือนมิถุนายน 2565 แต่ล่าสุดปรับเวลาเงินกู้เร็วขึ้นเป็นเดือนเมษายน 2565 แทน จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ผันผวน

ขณะที่แผนเงินกู้ยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ และการพิจารณาความชัดเจนจากธนาคารต่าง ๆ ซึ่ง สกนช.ได้รายงานความคืบหน้าให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานรับทราบถึงแนวทางการได้เงินกู้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า เพราะหลังจากที่กองทุนได้ส่งหนังสือเชิญชวน 10 สถาบันการเงิน ซึ่งมีกำหนดให้ยื่นแผนปล่อยกู้ภายใน 31 มกราคมที่ผ่านมา แต่ไม่ได้มีใครยื่นแผนปล่อยกู้เข้ามา โดยเบื้องต้นมีเพียงธนาคารกรุงไทย ออมสิน และกสิกรไทย ที่แสดงความสนใจด้วยวาจา พร้อมระบุว่า ตามขั้นตอนของธนาคารต้องเสนอบอร์ดธนาคารพิจารณาอนุมัติก่อน ซึ่ง สกนช.จึงอยู่ระหว่างรอการตอบกลับเพื่อที่จะดำเนินการกู้เงินให้เรียบร้อยภายในเมษายนนี้

นายวิศักดิ์กล่าวว่า แผนเบื้องต้นหากยังไม่มีสถาบันการเงินประสานกลับมา ทางกองทุนก็มีแผนจะส่งหนังสือเชิญชวนสถาบันทางการเงินปล่อยกู้อีกครั้งในเร็ว ๆ นี้

ทีทีบี-ธอส.เมินปล่อยกู้

“โดยในรอบแรกมีสถาบันการเงินแจ้งไม่สนใจปล่อยกู้โครงการดังกล่าว 3 ราย ประกอบด้วย ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เนื่องจากวัตถุประสงค์การปล่อยกู้เป็นการเฉพาะกิจ และธนาคารไม่เข้าข่ายที่จะให้เงินกู้ได้”

นายวิศักดิ์กล่าวว่า สำหรับสถานะกองทุน ณ วันที่ 6 ก.พ. 2565 ติดลบ 16,052 ล้านบาท ซึ่งในสัปดาห์นี้ต้องอุดหนุนไปอีกประมาณ 2 พันล้านบาท ก็คาดว่าในวันที่ 13-14 ก.พ.นี้ กองทุนจะติดลบกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ด้วยสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ผันผวนจำเป็นต้องติดตามแบบรายวัน

ทั้งนี้ จากการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ต้องกู้เงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องช่วงเดือนเมษายน 2565 นั้น มาจากประมาณการราคาน้ำมันโลกไม่เกิน 95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่หากราคาน้ำมันโลกขยับเกินราคา จะทำให้ระยะเวลาการดูแลดีเซลสั้นลง หากเป็นเช่นนั้นก็มีโอกาสที่เงินกู้ 20,000 ล้านบาทอาจไม่เพียงพอ และอาจต้องกู้เพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท ตามกรอบการกู้เงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ที่ 30,000 ล้านบาท

ชาวบ้านอ่วมของแพง-รายได้ลด

ขณะที่ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ระบุว่า ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนลดต่ำลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อยู่ที่ 30.9 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกือบในทุกองค์ประกอบของดัชนี โดยเฉพาะมุมมองเกี่ยวกับ “ระดับราคาสินค้า” ในหมวดของอาหารและเครื่องดื่ม และราคาพลังงาน สอดคล้องกับระดับเงินเฟ้อในเดือน ม.ค. 65 อยู่ที่ 3.23% พุ่งสูงขึ้นอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน

โดยครัวเรือนมีความกังวลมากขึ้นต่อมุมมองด้านรายได้และการไม่มีงานทำ ซึ่งข้อมูลภาวะการทำงานของประชากรในไตรมาส 4/2564 พบว่า แม้จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่แรงงานบางส่วนยังมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 45.6 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำกว่าภาวะปกติ บ่งชี้ถึงรายได้ของแรงงานที่ลดลง ซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนต่อเนื่องไป

สินค้าสุดอั้นหวั่นขึ้นราคายกแผง

แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายหนึ่งเปิดเผยว่า จากปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนต่อภาคธุรกิจอย่างมาก เนื่องจากน้ำมันเป็นต้นทุนที่สำคัญของธุรกิจ ตั้งแต่การขนส่ง บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ ประกอบกับที่ผ่านมาวัตถุดิบสินค้าหลาย ๆ อย่างมีราคาที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาซัพพลายเชนและการขนส่งระหว่างประเทศมีปัญหา

ทำให้ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคได้ทยอยปรับขึ้นราคาสินค้ามาตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ลูกอม บิสกิต ผงซักฟอก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผ้าอ้อมสำเร็จรูป รวมถึงอาหารสัตว์ (สุนัข-แมว)

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาผู้ผลิตสินค้าควบคุมหลาย ๆ อย่างได้ทยอยยื่นหนังสือถึงกรมการค้าภายใน เพื่อขอปรับขึ้นราคาสินค้า แต่ทางการยังไม่อนุญาตและขอความร่วมมือให้ตรึงราคาสินค้าไว้ก่อน