ปี 64 ยอดขายไทยยูเนี่ยน 1.41 แสนล้าน กำไรสุทธิพุ่ง 28.3%

ปลาทูน่า ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป / TU / Thai Union

ไทยยูเนี่ยนโชว์ผลประกอบการปี 2564 แกร่งสุดเป็นประวัติการณ์ ตอกย้ำผลสำเร็จมาจากการวางกลยุทธ์ธุรกิจระยะยาวฝ่าวิกฤตโควิด กำไรสุทธิปี 2564 พุ่ง 28.3% ยอดขาย 141,048 ล้านบาท โต 6.5% จ่ายปันผลครึ่งหลังปี 2564 อยู่ที่ 0.50 บาทต่อหุ้น รวมปันผลทั้งปี 2564 เป็น 0.95 บาทต่อหุ้น

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู เปิดเผย รายงานผลประกอบการว่า ปี 2565 ไทยยูเนี่ยนสามารถทำยอดขาย 141,048 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% ส่วนกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 9.9% อยู่ที่ 25,727 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 8,013 ล้านบาท เติบโต 28.3% สูงสุดเป็นประวัติการณ์

โดยยอดขายไตรมาส 4 ปี 2564 สูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 38,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 32.5% มูลค่า 1,930 ล้านบาท

เนื่องจากธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นที่ฟื้นตัวในสหรัฐอเมริกา ภายหลังมาตรการป้องกันโควิด-19 มีการผ่อนคลายและร้านอาหารและโรงแรมเริ่มทยอยเปิดให้บริการ นอกจากนี้ยอดขายจากหน่วยธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและธุรกิจเพิ่มมูลค่ายังเติบโตต่อเนื่อง แม้จะประสบสภาวะการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกก็ตาม

สำหรับยอดขายธุรกิจอาหารทะเลบรรจุกระป๋องในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปีเติบโต 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าด้วยการปรับขึ้นราคาขายสินค้า ส่วนยอดขายธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นเติบโตขึ้น 21% จากการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม ในขณะที่ยอดขายธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและสินค้าเพิ่มมูลค่าเติบโตขึ้นถึง 27.2% จากความต้องการสินค้าที่สูงขึ้นมากและฐานลูกค้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ไทยยูเนี่ยนประกาศปันผลงวดการดำเนินงานในครึ่งปีหลังจำนวน 0.50 บาทต่อหุ้น รวมปันผลหุ้นตลอดปีอยู่ที่ 0.95 บาทต่อหุ้น เป็นระดับที่สูงสุดของบริษัทสะท้อนผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง

“ในปีที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยนทำผลงานได้ดีเยี่ยมเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งในแง่ของรายได้และกำไรสุทธิ จากยอดขายที่เติบโตและความสามารถในการทำกำไร ด้วยกลยุทธ์ธุรกิจระยะยาวของบริษัททำให้ธุรกิจหลักของเราแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต่อยอดธุรกิจใหม่ ๆ ที่เพิ่มมูลค่า อีกทั้งบริษัทยังเน้นในเรื่องของวินัยทางการเงินที่สร้างความสามารถในการทำกำไรและความยั่งยืน ส่งผลให้เราสามารถเพิ่มการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นและคงอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ที่ระดับ 0.99 เท่า”

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด นอกจากไทยยูเนี่ยนจะบริหารธุรกิจให้ผ่านวิกฤตไปได้แล้ว ทีมผู้บริหารยังมองถึงการพัฒนาธุรกิจให้มีแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าจะต้องดำเนินธุรกิจท่ามกลางวิกฤตโควิด แต่ไทยยูเนี่ยนยังมองไปยังอนาคต โดยมีการลงทุนกลยุทธ์ทั้งในยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีที่ผ่านมา ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการเร่งการเติบโตในอนาคต ไทยยูเนี่ยนยังได้ตั้งบริษัท ไทยยูเนี่ยน ไลฟ์ไซเอนซ์ จำกัด ขึ้นเพื่อเข้ามาดูแลการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ส่งตรงถึงผู้บริโภค ซึ่งนับเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตเร็ว

สำหรับในปี 2564 บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือยังได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะรองรับการเติบโตและขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในเอเชีย

นอกจากนี้ไทยยูเนี่ยนยังให้ความสำคัญกับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีการเปลี่ยนชื่อ บริษัท สงขลาแคนนิ่ง จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทในเครือ ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป เป็น บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อรองรับการพัฒนาและขยายกิจการในธุรกิจสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไทยยูเนี่ยนมีแผนจะนำบริษัท ไอ-เทล จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกในปีนี้

“ความยั่งยืนยังคงเป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจของไทยยูเนี่ยน บริษัทได้รับการจัดอันดับในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์เป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน และได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 2 ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร ในปี 2564 ไทยยูเนี่ยนได้แต่งตั้งนายอดัม เบรนนัน เป็นผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเดินหน้างานด้านความยั่งยืนในฐานะผู้นำในเวทีโลกต่อไป”

ในปี 2564 ไทยยูเนี่ยนได้เริ่มก้าวสู่ Blue Finance โดยเป็นบริษัทแรก ๆ ในประเทศไทยที่เดินหน้าการเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืนและตั้งเป้าหมายการทำงานที่สนับสนุนการอนุรักษ์มหาสมุทร และผลสำเร็จตามเป้าหมายจะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยของเครื่องมือการเงินชนิดนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อหรือหุ้นกู้ โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทได้รับสินเชื่อและออกหุ้นกู้ที่ส่งเสริมความยั่งยืนรวมทั้งสิ้น 27,000 ล้านบาท โดยไทยยูเนี่ยนได้ตั้งเป้าหมายระยะยาว ให้ 75 เปอร์เซ็นต์ของเงินกู้ยืมระยะยาวของบริษัทเป็น Blue Finance ภายในปี 2568 ซึ่งเพิ่มจาก 50 % ณ สิ้นปี 2564

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ธุรกิจทั่วโลกต้องรับมือ ไทยยูเนี่ยนยังคงเดินหน้าให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานทั่วโลกและดูแลสังคมและชุมชนในพื้นที่ที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่ “สิ่งที่สำคัญเท่ากับการดำเนินธุรกิจก็คือการดูแลพนักงานของเราทั่วโลก ทั้งเอเชีย แอฟริกา ยุโรปและอเมริกา ให้แข็งแรงและปลอดภัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป กล่าวเสริม

“นอกจากนี้ นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดขึ้นในช่วงปลายปี 2563 ไทยยูเนี่ยนได้ริเริ่มโครงการไทยยูเนี่ยนแคร์ และได้บริจาคอาหารมากกว่า 4 ล้านชุด ทั้งอาหารสำหรับคนและสัตว์เลี้ยง รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ การช่วยเหลือด้านงบประมาณ ให้กับผู้ที่ประสบความยากลำบากในชุมชนและพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก”

นายธีรพงศ์กล่าวต่อไปว่า ปี 2565 ไทยยูเนี่ยนยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจโดยมุ่งเน้นในเรื่องอัตราการทำกำไรที่สูงขึ้นและธุรกิจใหม่ที่เพิ่มมูลค่า เช่น ส่วนประกอบอาหาร อาหารเสริมเพื่อสุขภาพและโปรตีนทางเลือก เพื่อให้สอดรับกับตลาดที่เติบโตเร็วในธุรกิจเหล่านี้

“การเดินหน้าทางธุรกิจของเราสอดรับกับเป้าหมายของไทยยูเนี่ยนที่มุ่งสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คน ควบคู่ไปกับการดูแลทรัพยากรทางทะเลให้อุดมสมบูรณ์ หรือ Healthy Living, Healthy Oceans ที่นอกจากจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคแล้ว เรายังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสินค้าเราด้วยนวัตกรรมที่ช่วยให้เราสามารถดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คน”

“ในปี 2565 นี้ แม้ว่าจะยังเป็นปีที่ท้าทายสำหรับทุกคน ทั้งอัตราเงินเฟ้อ การแพร่ระบาด ห่วงโซ่อุปทาน การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ไทยยูเนี่ยนจะยังเดินหน้าอย่างเต็มที่เพื่อสร้างผลงานให้ได้ดีเหมือนปีที่ผ่านมา” นายธีรพงศ์กล่าว

เกี่ยวกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำด้านอาหารทะเลระดับโลกที่นำผลิตภัณฑ์อาหารทะเลคุณภาพสูง ดีต่อสุขภาพ อร่อย และสร้างสรรค์ มาสู่ลูกค้าทั่วโลกมาเป็นกว่า 45 ปี

ปัจจุบันไทยยูเนี่ยนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำของโลกและเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปลาทูน่าในบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดขายต่อปีเกินกว่า 141,000 ล้านบาท (4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และแรงงานทั่วโลกกว่า 44,000 คน ที่ทุ่มเทให้กับการบุกเบิกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

ไทยยูเนี่ยนเป็นเจ้าของแบรนด์ทั่วโลก ประกอบด้วย แบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดโลกอย่าง Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, King Oscar และ Rügen Fisch รวมทั้งแบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ ซีเล็ค ฟิชโช คิวเฟรช โมโนริ OMG MEAT เบลลอตต้า และมาร์โว่ นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบอาหารภายใต้แบรนด์ UniQ™BONE และ UniQ™DHA และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพแบรนด์ ZEAVITA

จากพันธกิจในการเป็นบริษัทแห่งนวัตกรรมและดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบทั่วโลก ไทยยูเนี่ยนภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในภาคีข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation : ISSF)

ในปี 2558 ไทยยูเนี่ยนเปิดตัวกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® และดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาโดยตลอด จนส่งผลให้ไทยยูเนี่ยนได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่ 8 ปีติดต่อกัน โดยในปี 2564 ได้รับเลือกเป็นบริษัทอันดับ 2 ของกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน