ลุยแก้ปัญหา “สินค้าก๊อบปี้” กรมทรัพย์สินทางปัญญาตั้งเป้าหลุด WL

นับเป็นข่าวดีแรกในรอบหลายปีที่ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ประกาศเผยแพร่รายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงทั่วโลก ประจำปี 2564 (2021 Review of Notorious Markets for Counterfeiting and Piracy)

โดยระบุว่า ไทยไม่มีย่านการค้าและตลาดออนไลน์ที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเลย จากการพิจารณาร่วมกับ 18 ประเทศทั่วโลก

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์” อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ถึงแผนงานเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดจากจัดอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List : WL) ตามกฎหมาย Special 301 ในเดือนเมษายน

บูรณาการทุกฝ่าย

สิ่งที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาทำคือ การบูรณาการทำงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ-เอกชน ทั้งตลาด มาร์เก็ตเพลซ โซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น Facebook Twitter Instagram

ตั้งแต่ที่เข้ามาทำงานเน้นเข้าไปแก้ไขปัญหาใหญ่ที่จะต้องเร่งแก้ไข โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เข้ามาหารือว่า

หากประเทศไทยต้องการหลุดจากประเทศที่ไม่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องทำอย่างไร และเหตุใดประเทศไทยจึงไม่หลุดสถานะ WL จะได้เร่งแก้ไขปัญหาตรงนั้น

ที่ผ่านมากรมดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ติดปัญหาไหนก็จะเข้าไปแก้ไข มีปัญหาด้านการค้า การค้าออนไลน์ กฎหมาย การตรวจสอบ การปราบปรามสินค้าที่ละเมิดไม่ว่าจะเป็น เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า ก็พร้อมทำทุกมิติ

เพื่อให้ไทยหลุดออกจากบัญชีดังกล่าว กรมเองก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี โดยเฉพาะเจ้าของตลาดที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ค้าขายสินค้าถูกกฎหมาย อีกทั้งยังมีคำแนะนำการขายสินค้า สร้างแรงจูงใจโดยการลดค่าเช่า

แก้ปัญหาละเมิดออนไลน์

แม้แต่ในช่องทางตลาดออนไลน์ ซึ่ง 3 มาร์เก็ตเพลซใหญ่ ลาซาด้า ช้อปปี้ เจดีเซ็นทรัล ซึ่งมีสัดส่วนตลาดถึง 90% ในตลาดออนไลน์ ทางกรมยังได้มีความร่วมมือในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ค้า ผู้ซื้อ นักลงทุนในการขายสินค้าถูกกฎหมาย

หากพบสินค้าละเมิดพร้อมนำออกจากระบบทันที รวมถึงเพิ่มช่องทางการร้องเรียนหากเจอสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วย และเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งก็มีช่องทางการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจด้วย

“ที่ผ่านมากระสุนเรามีเท่าเดิม ฉะนั้นจะต้องยิงให้ตรงเป้าหมายที่สุด ซึ่งจะยิงให้ตรงเป้าก็จะต้องถามไปยังผู้ประเมินว่าสงสัยในประเด็นไหน จึงเป็นที่มาที่กรมเชิญหน่วยงานดังกล่าวเข้ามาตรวจสอบ หารือเพื่อจะตอบข้อสงสัย และจะได้ดำเนินการไปตรงตามวัตถุประสงค์ที่หน่วยงานประเมินต้องการ”

3 ประเด็นร้อน กม.ลิขสิทธิ์ ปี’65

ขณะเดียวกัน กรมเร่งแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ปี 2537 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2561 ซึ่งได้ผ่านกระบวนการเห็นชอบทั้งหมดแล้ว รอให้มีผลบังคับใช้ ในวันที่ 23 สิงหาคม 2565

การแก้ไขครั้งนี้มีสาระสำคัญอยู่ 3 ประเด็น คือ การแก้ไขเพิ่มบทบัญญัติข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการจากเดิมที่กำหนดให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถไปยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ระงับการละเมิด

เพื่อให้ศาลมีคำสั่งระงับผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ได้แก้ไขให้ไม่ต้องผ่านกระบวนการของศาล โดยเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถยื่นร้อง หากพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ จากนั้นตัวผู้ให้บริการสามารถนำผลงานนั้นออกจากระบบได้ทันที

หากผู้ใช้บริการมีข้อสงสัยว่าการดำเนินการไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ ก็มีสิทธิ์ใช้กระบวนการโต้แย้งได้ ซึ่งก็จะมีการตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาการแจ้งที่ไม่ถูกต้องหรือต้องการกลั่นแกล้ง

การเพิ่มโทษฐานความผิดสำหรับผู้ที่ขายและผลิตอุปกรณ์ เช่น กล่องดำ เซตท็อปบอกซ์ เป็นต้น ที่ไม่ถูกกฎหมาย จากเดิมที่เอาผิดกับผู้ผลิต ผู้ขายไม่ได้ แต่กฎหมายใหม่นี้สามารถดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายได้

สำหรับบทลงโทษผู้ที่ผลิตอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท แต่หากเป็นการกระทำเพื่อการค้า การขาย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประเด็นสุดท้าย ขยายอายุความคุ้มครองเรื่องของภาพถ่าย จากเดิมภาพถ่ายจะมีอายุ 50 ปีนับตั้งแต่มีการสร้างสรรค์งานขึ้น แต่ปัจจุบันงานภาพถ่ายจะมีอายุตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และบวกอีก 50 ปีนับตั้งแต่ผู้เป็นเจ้าของผลงานเสียชีวิต

ชี้โทษเครื่องหมายการค้า

สำหรับบทลงโทษ การละเมิดเครื่องหมายการค้า ทั้งการปลอมแปลงและเลียนแบบเครื่องหมายการค้านั้น ผู้ที่ทำสินค้าโดยการปลอมหรือการก๊อบปี้ การนำมาดัดแปลงให้เหมือนกัน มีโทษจำคุก 4 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โทษของการลอกเลียนแบบ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ที่ขายและนำเข้าเพื่อมาจำหน่ายสินค้าดังกล่าวก็จะต้องมาพิจารณาว่า

ผู้ที่ทำผิดกฎหมายนั้นเป็นการกระทำโดยการปลอมแปลง หรือเลียนแบบสินค้า ซึ่งก็จะพิจารณาตามโทษนั้น ๆ ต่อไปโดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณา ทั้งนี้ โทษนี้เพื่อให้ผู้ที่กระทำผิดรับรู้ว่าหากกระทำผิดจะต้องมีโทษอย่างไร

อีกทั้งในปัจจุบันทางกรมการค้าต่างประเทศมีกฎหมายเรื่องนำเข้า-ส่งออก ผ่านแดน ซึ่งห้ามนำสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้าเป็นสินค้าต้องห้ามที่ห้ามนำเข้า-ส่งออกและผ่านแดน โดยอยู่ระหว่างรอการประกาศให้มีผลบังคับใช้ หากพบสามารถดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายได้ทันที

สั่งปิด URL ทะลุพันราย

“ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในส่วนของการถ่ายทอดผ่าน streaming ทั้งภาพยนตร์ เพลง ได้ดำเนินการสั่งปิดผู้ละเมิดตั้งแต่ปี 2561-2564 ไปแล้ว 1,500 URL โดยอาศัย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 เข้ามาดำเนินการ และหากเจ้าของลิขสิทธิ์ยังเห็นว่ามีการละเมิดก็สามารถร้องเรียนได้ทันที กรมก็จะเร่งดำเนินการตามกฎหมายในการสั่งปิดผู้ที่ละเมิดให้เร็วที่สุด”

สำหรับในส่วนการขายสินค้าละเมิดบนออนไลน์ที่มีการร้องเรียน ดำเนินคดีอยู่ประมาณ 500-600 คดี ซึ่งก็มีการปิดคดีไปมาก แต่ก็ยังต้องยอมรับว่ายังมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา แต่มีจำนวนลดลงมาก

เนื่องจากว่าเราทำงานแบบบูรณาการ จึงสะท้อนให้เห็นแล้วว่าปีนี้ ผู้แทนการค้าสหรัฐประกาศว่า ไทยไม่มีสินค้าละเมิดในกลุ่มตลาดทั่วไป และตลาดออนไลน์

สร้างความมั่นใจให้นักลงทุน

การแก้ปัญหาการละเมิดประเทศไทยมีเป้าหมายที่ต้องการจะหลุดจากสถานะอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง Watch List หรือ WL สถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ซึ่งจะมีการประกาศในเดือนเมษายนของทุกปี

“สิ่งสำคัญคือ เราสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณะได้รับรู้ว่า ประเทศไทยมีระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมไปถึงการส่งเสริมคุ้มครองและการปราบปราม

พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และผู้ประกอบการในประเทศไทยด้วย อีกทั้งยังส่งเสริมให้คนไทยได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้าและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยังทำให้ผู้บริโภคได้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพ”