ปศุสัตว์แนะใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศ มันสำปะหลัง ปลายข้าว ลดนำเข้า

มันสำปะหลัง

​ปศุสัตว์แนะใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ มันสำปะหลัง ปลายข้าว รำข้าว ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ลดนำเข้าให้มากที่สุด

วันที่ 4 เมษายน 2565 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาสูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ในต่างประเทศที่มีความผันผวนของวัตถุดิบ ซึ่งมีผลกระทบทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ประกอบการด้านอาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงสัตว์ และผู้บริโภค

ดังนั้นกรมปศุสัตว์จึงสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตอาหารสัตว์ที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพื่อทดแทนวัตถุดิบจากต่างประเทศ นอกเหนือจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตภายในประเทศ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้ผลิตอาหารสัตว์ เช่น มันสำปะหลัง ปลายข้าว รำข้าว รวมถึงข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ผลพลอยได้ที่ได้จากอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร เช่น กากมันสำปะหลัง กากเบียร์ กากน้ำตาล

​อย่างไรก็ตาม วัตถุดิบอาหารสัตว์เพื่อทดแทนดังกล่าวต้องคัดเลือกและตรวจสอบให้มีคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัย โดยเฉพาะต้องไม่พบสิ่งปลอมปนซึ่งมาจากวัตถุดิบอื่น เชื้อราชนิดต่างๆ เมล็ดแตก เสีย มีกลิ่นเหม็นหืน รวมถึงสิ่งที่ปนมาโดยธรรมชาติ เช่น ดิน หิน ทราย มีความชื้นที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการเกิดสารพิษจากเชื้อรา

ตลอดจนปริมาณการใช้ต้องเหมาะสมตามความต้องการด้านโภชนาการของสัตว์แต่ละชนิด วัตถุดิบบางชนิดไม่สามารถทดแทนกันได้ทั้งหมด เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ สุขภาพสัตว์ รวมถึงผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศคู่ค้า

Advertisment

กรมปศุสัตว์จึงได้พัฒนาสูตรอาหารสัตว์ที่มีวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศไทยเป็นทางเลือกเพื่อทดแทนการนำเข้า เช่น มันสำปะหลัง (มันเส้น กากมัน) ข้าว (ปลายข้าว ข้าวกล้อง ข้าวกะเทาะเปลือก) ข้าวโพด รำข้าว กากปาล์ม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม วัตถุดิบบางชนิดมีข้อจำกัดในการใช้ผลิตอาหารสัตว์ หากใช้ปริมาณที่ไม่เหมาะสมในสูตรอาหารสัตว์ อาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพสัตว์ ผลผลิต หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ได้

นอกจากนี้ ปศุสัตว์จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรชี้แจงพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และระบบ NSW ด้านอาหารสัตว์ โดยกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ มีหน้าที่ในการควบคุม กำกับ ดูแลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 ซึ่งภารกิจส่วนหนึ่งจะเกี่ยวข้องกับการควบคุมการนำเข้า-ส่งออกอาหารสัตว์ การตรวจติดตาม การขออนุญาตนำเข้า ผลิต ขายอาหารสัตว์ การตรวจสอบอาหารสัตว์ปลอมปน อาหารสัตว์เสื่อมคุณภาพ อาหารสัตว์ผิดมาตรฐาน มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ขาย และเกษตรกรผู้ใช้อาหารสัตว์

โดยมีหลักการดำเนินงานเกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 เงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศ ขั้นตอนการปฏิบัติงานด้านกฎหมายอาหารสัตว์อื่นที่เกี่ยวข้อง และขั้นตอนการปฏิบัติงานระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ด้านอาหารสัตว์ ที่ปัจจุบันกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ได้นำระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงระบบได้จากอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด

ตั้งแต่ Smart Phones, Tablets, Laptop PCs, Desktop PCs ฯลฯ มาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพในส่วนของใบอนุญาตอาหารสัตว์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการผลิต นำเข้า หรือขายอาหารสัตว์ ได้สามารถยื่นคำขอต่าง ๆ เช่น ใบอนุญาต ใบรับรอง ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ ผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว

Advertisment

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ให้กับผู้ประกอบการ และอยากฝากสิ่งที่กำลังเป็นส่วนที่สำคัญของระบบการผลิตอาหารสัตว์ในอนาคตอันใกล้นี้ คือเรื่องของ การปลูกพืชหรือนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพดอาหารสัตว์ ที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการทางสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด