จี้รัฐหนุนไทยฮับเครื่องมือแพทย์ ส.อ.ท.หวั่นติดหล่มขาดนวัตกรรม-แล็บ

ส.อ.ท.หวั่นไทยพลาดเป็นผู้นำ medical hub ชี้ติดหล่มปัญหาขาดนวัตกรรม ไฮเทค ต้องพึ่งนักลงทุน-บุคลากรต่างชาติ แม้ยอดขอบีโอไอปี’64 พุ่ง 62,170 ล้านบาท เพิ่ม 182% ส่งไม้ต่อประธาน ส.อ.ท.คนใหม่เร่งผลักดัน ด้าน “สศอ.” เร่งเครื่องแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ผุด 3 มาตรการส่งเสริมทันที

นายวินิจ ฤทธิ์ฉิ้ม ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ครบวงจร หรือ medical hub ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนช่วงปี 2560 ซึ่งเกิดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ขึ้นมา (new S-curve) อย่างการแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ ดิจิทัล ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อากาศยาน ป้องกันประเทศ

“กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์เอง จะประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ ด้านบริการ (โรงพยาบาล) เครื่องมือแพทย์ (ผู้ผลิตเครื่องมือ) และยา ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ของอุตสาหกรรมการแพทย์ มีมูลค่า 22,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 165% จำนวน 83 โครงการ เพิ่มขึ้น 177%

และในปี 2564 มีเงินลงทุนสูงถึง 62,170 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 182% เป็นยอดการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนถึง 60,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 271% จากปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 16,270 ล้านบาท ทั้งยังมีความได้เปรียบโดยเฉพาะในเรื่องของภาคบริการ โรงพยาบาล กิจการโรงพยาบาลผู้สูงอายุ แต่เรากลับพบว่าองค์ประกอบในส่วนของผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ซึ่งมีมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท กลับติดปัญหาเรื่องของไฮเทคเทคโนโลยี นวัตกรรม”

“อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรขาดการส่งเสริมที่แท้จริง เราต้องพึ่งพาจับมือทำกับนักลงทุนต่างชาติ ต้องเพิ่มบุคลากร เพิ่มเรื่องนวัตกรรมถึงจะทำ ได้เทียบเท่ากับสเป็กสากล เราเก่งบางเรื่องแต่บางเรื่องรัฐยังสนับสนุนไม่เต็มที่”

ทั้งนี้ อุปสรรคที่กลุ่มผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ต้องเจอกันมาตลอด คือ ปัญหาความพร้อม โดยเฉพาะห้องปฏิบัติการ (lab) เพื่อทดสอบเครื่องมือแพทย์มีจำนวนน้อย ยังต้องพึ่งพาห้อง lab ของมหาวิทยาลัย และการทดสอบบางกระบวนการ อาจไม่ได้รับการรับรองเป็นสากล ต้องส่งไปทดสอบต่างประเทศที่ถือเป็นค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ส่งผลให้โรงพยาบาลเลือกที่จะสั่งนำเข้าจากต่างประเทศแทน

ดังนั้น แล้วแนวทางที่จะสร้างการเติบโตและผลักดันให้ไทยเป็น medical hub ได้ แนวทางหนึ่งคือการสร้างความเข้มแข็งของสมาชิกใน ส.อ.ท. ใช้ความแข็งในการทำหน้าที่คุมเศรษฐกิจภาคการผลิตทั้งหมดของประเทศ สร้างอำนาจการต่อรองทำงานกับภาครัฐให้มากขึ้น ผลักดันให้ภาคการผลิตได้ประโยชน์ ได้รับการส่งเสริมมากกว่านี้

ด้านนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564-2570) ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียนภายในปี 2570 ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2558-2562) พบว่าอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์แต่ละปีเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 4.09% จากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ และการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยร่างแผนปฏิบัติการจะมุ่งแก้ปัญหาอุปสรรค และยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทย แบ่งออกเป็น 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.ส่งเสริมการผลิตและการลงทุนในเครื่องมือแพทย์ ให้สิทธิประโยชน์กระตุ้นให้มีการผลิตและการลงทุน ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ให้มีการผลิตเครื่องมือแพทย์ในระดับที่สูงขึ้น กำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ให้มีความเชื่อมั่นในสินค้าเครื่องมือแพทย์ รวมถึงการสร้างตราสินค้าเครื่องมือแพทย์ของไทย

2.ส่งเสริมช่องทางการเข้าสู่ตลาด ให้มีการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในประเทศให้มากขึ้น โดยกำหนดสิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจเพิ่มเติมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับโรงพยาบาลของรัฐ ส่งเสริมให้โรงเรียนแพทย์มีการใช้เครื่องมือแพทย์ของไทยเพื่อให้แพทย์มีความเชื่อมั่นในการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในประเทศไทย

ส่งเสริมตลาดต่างประเทศโดยการจัดงานหรือการเข้าร่วมการประชุมวิชาการทางการแพทย์นานาชาติและงานแสดงสินค้าเครื่องมือแพทย์ ซึ่งจะเพิ่มประโยชน์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ในระดับสากล และส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ของไทยกับนานาชาติ

3.ส่งเสริม/เตรียมความพร้อมด้านปัจจัยสนับสนุน มีการสร้างปัจจัยสนับสนุนในการยกระดับการผลิตเครื่องมือแพทย์ โดยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการต่อยอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ พัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ สร้างผู้เชี่ยวชาญด้านกลไกควบคุมกำกับดูแลเครื่องมือแพทย์ (regulatory expert)

และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเชิงเทคนิค (technical expert) เพื่อให้คำปรึกษานักวิจัยและผู้ประกอบการในการประเมินเอกสารการขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ การสนับสนุนข้อมูลสารสนเทศ ระบบฐานข้อมูลกลางเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อาทิ ข้อมูลบัญชีผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูลห้องปฏิบัติการทดสอบ ข้อมูลหน่วยงานทดสอบหรือวิจัยทางคลินิก ข้อมูลเอกสารและผลการทดสอบประกอบการขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์