ครม.ไฟเขียว ท่าที JTC ไทย-เวียดนาม แก้คอขวดส่งผลไม้ไทยไปจีน

ครม.เห็นชอบท่าทีไทยในการประชุม JTC ไทย – เวียดนาม ครั้งที่ 4 แก้ปัญหาคอขวดส่งผลไม้ไทยไปจีน ลงทุนพลังงานสะอาดในเวียดนาม ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี’68

วันที่ 19 เมษายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบท่าทีไทยในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย – เวียดนาม ครั้งที่ 4

โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระหว่างวันที่ 19-20 เมษายน 2565 ณ กรุงเทพมหานคร ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อให้คณะผู้แทนไทยใช้ท่าทีเป็นกรอบในการหารือกับฝ่ายเวียดนาม ซึ่งการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย – เวียดนาม เป็นเวทีการประชุมหารือระดับรัฐมนตรีการค้าเพื่อกำหนดทิศทางการปฏิสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทย – เวียดนาม รวมถึงการดำเนินความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน สำหรับการประชุม JTC ไทย – เวียดนาม ครั้งที่ 4 นี้ ไทยมีท่าทีในประเด็นสำคัญ อาทิ

1.การเพิ่มเป้าหมายการค้า โดยตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกันให้บรรลุ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 ซึ่งเป็นประเด็นที่เวียดนามให้ความสำคัญ เนื่องจากเวียดนามต้องการให้ไทยช่วยลดการขาดดุลทางการค้าของเวียดนามลง

2.การอำนวยความสะดวกและขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน อาทิ มาตรการนำเข้าสินค้ายาของเวียดนามที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย เช่น ยาที่จะนำเข้าต้องแสดงเอกสารรายละเอียดส่วนประกอบยาที่มากเกินความจำเป็น การอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าบริเวณด่านชายแดนไปยังประเทศที่ 3 ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ เนื่องจากการส่งสินค้าผลไม้ไปจีนมักพบปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณด่านชายแดนเวียดนาม – จีน

3.อำนวยความสะดวกในการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตร รวมถึงการพัฒนาสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพร่วมกัน

4.เสริมสร้างความร่วมมือในมาตรการเยียวยาทางการค้าบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน

5.จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างไทยและเวียดนามทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์

6.พัฒนาความเชื่อมโยงของการขนส่งระหว่างสองประเทศและภายในอนุภูมิภาค ทั้งทางบกและทางทะเล

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความร่วมมือด้านอื่น ๆ ที่จะผลักดัน อาทิ 1.ส่งเสริมการลงทุนในสาขาที่มีศักยภาพและเป็นประโยชน์ร่วมกัน 2.ส่งเสริมความร่วมมือเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน และการบูรณาการทางการเงิน

3.ขยายความร่วมมือด้านพลังงาน โดยเฉพาะโอกาสการลงทุนของไทยในด้านพลังงานสะอาดในเวียดนาม 4.ขยายความร่วมมือด้านแรงงานและติดตามความคืบหน้าการทำบันทึกข้อตกลงด้านการจ้างแรงงานฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 5.ส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

น.ส.รัชดากล่าวว่า ปัจจุบันเวียดนามเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 5 ของไทยในโลก และเป็นอันดับที่ 2 ของไทยในอาเซียน รองจากมาเลเซีย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2560-2564) การค้าระหว่างไทยกับเวียดนามมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณปีละ 17,767 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.32 ต่อปี โดยในปี 2564 มีมูลค่าการค้าไทย – เวียดนามรวม 19,477 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 17.31 ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามูลค่า 5,599 ล้านดอลลาร์สหรัฐ