กรมชลประทานเริ่มส่งน้ำบางระกำเร่งเพาะปลูกข้าวแล้วกว่า 5 หมื่นไร่

กรมชลประทาน เริ่มส่งน้ำเกษตรกรบางระกำเร่งเพาะปลูกข้าวนาปีแล้วกว่า 5 หมื่นไร่ คาดเป็นไปตามเป้าหมายเก็บเกี่ยวผลผลิต ช่วยลดความเสี่ยงนาข้าวเสียหายจากการถูกน้ำท่วม หลังเก็บเกี่ยวพร้อมใช้ทำแก้มลิงธรรมชาติ รองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากที่กำลังจะมาถึง

วันที่ 20 เมษายน 2565 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมชลประทานได้เริ่มส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่ทุ่งบางระกำ (ครอบคลุมพื้นที่ อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ อ.เมือง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก และ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย รวม 265,000 ไร่) ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา

ปัจจุบันมีการส่งน้ำเข้าทุ่งไปแล้ว 46.43 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 15 จากแผนจัดสรรน้ำทั้งหมด 310 ล้าน ลบ.ม. มีการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้ว 55,319 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของพื้นที่ทุ่งบางระกำทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานจะเดินหน้าส่งน้ำเพื่อให้เกษตรกรได้เพาะปลูกข้าวนาปีตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ และเก็บเกี่ยวผลผลิตให้แล้วเสร็จก่อนที่ฤดูน้ำหลากปี 2565 จะมาถึง ช่วยลดความเสี่ยงนาข้าวเสียหายจากการถูกน้ำท่วม และหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ จะใช้ทุ่งบางระกำเป็นแก้มลิงธรรมชาติ รองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ จ.พิษณุโลก และสุโขทัย รวมทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างอีกด้วย

ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จังหวัดอุทัยธานี มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบเชิงเขาจากทิศตะวันตกไปตะวันออก จึงมักประสบปัญหาน้ำป่าไหลหลากในช่วงฤดูฝน และน้ำแล้งในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากมีแหล่งน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ การบริหารจัดการน้ำจึงต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ทำให้เป็นจังหวัดที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 2 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การประปาส่วนภูมิภาค และกรมชลประทาน ร่วมบูรณาการในการเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว อย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างยั่งยืน

โดยในส่วนของกรมชลประทาน มีแผนดำเนินการโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำมอโค้ ต.บ้านไร่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี (พ.ศ. 2567-2570) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากดำเนินโครงการแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรได้ถึง 5,500 ไร่ ทั้งยังบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ได้

นอกจากนี้ ยังมีแผนดำเนินโครงการเติมน้ำในแม่น้ำสะแกกรังในระยะยาว ด้วยการดำเนินโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำสะแกกรัง ต.น้ำซึม อ.เมือง จ.อุทัยธานี ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน ด้วยการดำเนินโครงการก่อสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำสะแกกรัง

ซึ่งสามารถรักษาระดับน้ำในแม่น้ำสะแกกรัง ให้อยู่ในระดับ +14.50 ม.รทก. ไม่ส่งผลกระทบกับการดำรงชีพของประชาชนที่อาศัยอยู่ที่แพและกลุ่มประมงในแม่น้ำสะแกกรัง ทั้งยังสามารถใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับการเกษตรกว่า 2,000 ไร่ รักษาระบบนิเวศ รวมถึงแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้ง 1,270 ครัวเรือนได้อีกด้วย

โดยกรมชลประทานจะเร่งศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นปากแม่น้ำสะแกกรัง ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้ตามแผนที่กำหนดไว้ พร้อมเร่งรัดงานก่อสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำสะแกกรัง เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาขาดแคลนในพื้นที่ให้ได้เร็วที่สุด