น้ำมันปาล์มวิกฤตราคาทะลุ 70 บาท ธุรกิจ-ค้าปลีกฝุ่นตลบแย่งสต๊อก

วิกฤตน้ำมันพืชอินโดนีเซียห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม ดีมานด์ตลาดโลกพุ่ง ชาวสวนเฮ ดันราคาผลปาล์มทำนิวไฮอีกรอบ ซัพพลายเออร์โอดต้นทุน ค้าปลีก-ธุรกิจดิ้นฝุ่นตลบ เจรจาขอออร์เดอร์หวังตุนสต๊อก ฟันธงได้เห็นแน่ทะลุ 70 บาท/ขวด ปี๊บละไม่ต่ำกว่า 1,300 บาท น้ำมันปาล์มขวดขึ้นราคาเงียบ 8-12 บาท ในช่วง 6 เดือน

หลังจากรัฐบาลอินโดนีเซียที่เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ ได้ประกาศระงับการส่งออกน้ำมันเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำมันในประเทศ โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2565 เป็นต้นไป

ส่งผลให้สัญญาส่งมอบน้ำมันปาล์มล่วงหน้า ที่ตลาดซื้อขายในกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม 2565 พุ่งขึ้น 6% แตะที่ระดับ 6,738 ริงกิต (1,550 ดอลลาร์) ต่อตัน ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2565

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเริ่มส่งผลต่อระดับราคาน้ำมันปาล์มในประเทศตามมา

ดีมานด์พุ่ง-ต้นทุนเพิ่ม

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการน้ำมันปาล์มเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิ” ว่า ขณะนี้แม้ว่าผลปาล์มจะเริ่มทยอยออกและอยู่ในช่วงต้นฤดู รวมทั้งของมีปริมาณค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากตลาดมีการส่งออกน้ำมันปาล์มไปต่างประเทศค่อนข้างมาก

สถานการณ์ในประเทศจึงค่อนข้างตึงตัวและมีต้นทุนที่สูงขึ้น สะท้อนจากราคาผลปาล์มที่ออกมา ขณะนี้ราคาจะอยู่ในระดับ 10-11 บาท/กิโลกรัม ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูง จากช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาที่ปาล์มทะลายมีราคาประมาณ 8-9 บาท/กิโลกรัม

ที่สำคัญคือ การที่อินโดนีเซีย ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก ประกาศจะงับการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันในประเทศ จากเมื่อช่วงต้นปีที่มีการระงับการส่งออกมาแล้วครั้งหนึ่ง และทำให้ภาพรวมของดีมานด์ในตลาดโลกมีเพิ่มขึ้น

ประกอบกับสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กระทบกับตลาดถั่วเหลือง ขณะที่การเพาะปลูกถั่วเหลืองหรือดอกทานตะวันในแหล่งผลิตใหญ่ในหลายประเทศจะนำมาทดแทนน้ำมันปาล์มก็ประสบปัญหาภัยแล้ง

“จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้สถานการณ์น้ำมันเพื่อการบริโภคในขณะนี้ค่อนข้างวิกฤตและมีความเป็นไปได้ที่อาจจะลากยาวไปอีกระยะหนึ่ง”

ตลาดปั่นป่วน-ธุรกิจดิ้นสต๊อก

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้จากปัญหาวัตถุดิบน้ำมันพืช ทั้งกรณีของน้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลืองดังกล่าว บวกกับกระแสการลอยตัวน้ำมันดีเซลที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งโดยตรง ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในวงการค่อนข้างมาก โดยตลอดช่วงกว่า 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งผู้ประกอบการค้าปลีก รวมถึงหลาย ๆ ธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำมันปาล์มต่างโทรศัพท์เข้ามาสอบถาม เพื่อจะขอสั่งออร์เดอร์และสต๊อกน้ำมันในจำนวนและปริมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าความเคลื่อนไหวนี้จะเป็นเหมือนกันทุกซัพพลายเออร์

ส่วนน้ำมันเพื่อการบริโภคในครัวเรือน ขณะนี้มีความเป็นไปได้สูงที่ในแง่ของราคาขายปลีกอาจจะค่อย ๆ ขยับขึ้นไปและทะลุ 70 บาท/ขวด จากที่ตอนนี้ (26 เมษายน) ราคาอยู่ที่ระดับ 65-66 บาท/ขวด เช่นเดียวกับน้ำมันบรรจุปี๊บที่คาดว่าราคาจะขยับขึ้นไปทะลุ 1,300 บาท/ปี๊บ (18 ลิตร) จากเดิมที่อยู่ในระดับ 1,100-1,200 บาท ซึ่งราคาใหม่นี้อาจจะยืนไปอีกสักระยะหนึ่ง และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเริ่มคลี่คลายเมื่อไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดในช่องทางจำหน่ายที่เป็นโมเดิร์นเทรดพบว่า ช่วงเดือนเมษายน 2565 ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 62-66 บาท/ขวด ปรับเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นเดือนที่ราคาผลปาล์มทะลุนิวไฮรอบแรก ที่อยู่ที่ระดับ 54-55 บาท หรือราคาปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 8-12 บาท/ขวด ในช่วงเวลาเพียงแค่ 6 เดือน

ด้าน นายสุรช ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทแม่ของบริษัท ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทมีความจำเป็นต้องปรับราคาน้ำมันพืชกุ๊ก เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว

เนื่องจากราคานำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของสินค้า ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 50% ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับปีนี้น้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นน้ำมันพืชหลักของประเทศไทยขาดแคลน มีการปรับราคาสูงขึ้นกว่า 90% จึงทำให้น้ำมันถั่วเหลืองต้องเข้ามามีบทบาทเสริม เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภค

โอดน้ำมันขาขึ้น-ลงยาก

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเจอปัญหาต้นทุนน้ำมันปาล์มที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ราคา 40 กว่าบาท ขยับมาเป็น 50 บาท มาจนถึง 60 บาท

และถึงตอนนี้ก็ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น และยังไม่มีทีท่าจะลง และยังไม่สามารถประเมินได้ว่าราคาจะขยับเพิ่มขึ้นไปมากแค่ไหน จะสั่งออร์เดอร์หรือซื้อน้ำมันเพื่อสต๊อกไว้ก็ทำไม่ได้ เพราะซัพพลายเออร์ไม่เซ็นสัญญาขายวัตถุดิบระยะยาวแล้ว เนื่องจากราคาอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด

ตอนนี้ผู้ประกอบการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกรายต่างได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบ ทั้งราคาน้ำมันปาล์ม และแป้งข้าวสาลี สิ่งที่ทำได้จึงเน้นบริหารจัดการต้นทุนและเกลี่ยต้นทุนภายในเอง และมีการประเมินเพื่อหาทางรับมือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งการศึกษาการออกแพ็กเกจจิ้งใหม่ รวมไปถึงการออกรสชาติใหม่ในราคาพรีเมี่ยม แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือ ราคาแป้งสาลี และแพ็กเกจจิ้งที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอีก

ขณะที่ นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อินโดนีเซียมีพื้นที่ปลูกปาล์มถึง 30 ล้านไร่ และมีการส่งออกเกือบ 100% ตอนนี้อินโดนีเซียชะลอการส่งออกได้ไม่เกิน 80% ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันปาล์มในตลาดโลกเพิ่มขึ้น จึงทำให้ราคาผลปาล์มในตลาดโลกปรับสูงขึ้น แต่ราคาปาล์มของไทยยังไม่ขึ้นทันที

เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ผลผลิตกำลังออกสู่ตลาด คาดว่าเดือนเมษายนจะมีผลปาล์มออกสู่ตลาดประมาณ 1.7 ล้านตัน เดือนพฤษภาคมประมาณ 2 ล้านตัน ในขณะที่ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ หรือ CPO มีประมาณ 1.78 แสนตัน สูงกว่าก่อนหน้านี้ที่มีปริมาณ 1.3-1.4 แสนตัน

ขณะนี้ราคาผลปาล์มทรงตัวอยู่ที่ กก.ละ 9.45-9.80 บาท อ่อนตัวลงเล็กน้อยจากก่อนหน้านี้ที่เคยขยับขึ้นไป 10 บาท แต่ก็ยังถือเป็นระดับราคาที่สูง และมีบางพื้นที่ที่สามารถผลิตตามพรีเมี่ยมที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มสูงถึง 20% ราคาขยับขึ้นไปเป็น กก.ละ 11 บาท

ที่ผ่านมา (26 เมษายน) สมาพันธ์ได้เข้าพบ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมัน (กนป.) พร้อมทั้งเสนอให้รัฐบาลคงดำเนินนโยบายส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซลเป็น บี 5 ต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการทำให้ราคาผลปาล์มทรงตัวอยู่ในระดับสูง และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ขณะนี้ประสบปัญหาต้นทุนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะราคาปุ๋ย ที่เพิ่มขึ้นจากตันละ 28,000-30,000 บาท เป็น 34,000-36,000 บาท อีกทั้งจะเป็นการช่วยโรงงานผลิตไบโอดีเซลด้วย

“ม.ค.-ก.พ.” ส่งออกกระฉูด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ กนป.มีมติให้วางมาตรการเพื่อป้องกันปัญหาราคาปาล์มตกต่ำลง ด้วยการต่อเวลาการส่งเสริมการส่งออก โดยกำหนดชดเชยให้ผู้ส่งออกกิโลกรัมละ 2 บาท ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายน 2565 และคาดว่าจะใช้งบประมาณในการชดเชยราว ๆ 300 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขว่าจะส่งออกก็ต่อเมื่อ

1) ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบมีมากกว่า 300,000 ตัน และ 2) ราคาในประเทศสูงกว่าราคาต่างประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ที่กำหนดเป้าหมายการชดเชยไว้ 3 แสนตัน และมีผู้มาขอใช้ 50% ของเป้าหมาย

ล่าสุดแม้ว่าสถานการณ์ตลาดปาล์มจะปรับสูงขึ้น แต่องค์ประกอบอื่นยังไม่เข้าเงื่อนไขเรื่องของการขอรับส่งเสริมการส่งออก แต่จากการตรวจสอบตัวเลขการส่งออกน้ำมันปาล์มในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ตามข้อมูลของกรมศุลกากร ปี 2565 พบว่ามีมูลค่า 383.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 298.21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ตลาดส่งออกอันดับ 1 คือ มาเลเซีย มูลค่า 349.22 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 91% ของการส่งออกทั้งหมด และมีอัตราการขยายตัวสูงถึง 385.33% รองลงมาคือ อินเดีย 23.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55.70% และฟิลิปปินส์ 5.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,970.98% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน