ชุดตรวจโควิดในทุเรียน นวัตกรรมไบโอซายน์ รับนโยบาย Zero COVID จีน

ไบโอซายน์ “BIS” ต่อยอดนวัตกรรม PCR ล่าสุด ผลิตชุดตรวจโควิดในทุเรียน ผลไม้ อาหารส่งออก ตรวจบรรจุภัณฑ์และตู้คอนเทนเนอร์ เป็นรายแรกในไทยที่ อย.รับรอง ช่วยผู้ส่งออกไทย ส่งออกสินค้าตามนโยบาย Zero COVID ของจีน ลูกค้าส่งออกรายใหญ่ของประเทศไทย

วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 นสพ.ธนวัฒน์ คงเจริญสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไบโอซายน์ แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด (มหาชน) หรือ “BIS” เปิดเผยว่า ได้พัฒนานวัตกรรม ชุดตรวจโควิด-19 แบบ Real Time PCR เพื่อตรวจผลไม้สำคัญทางเศรษฐกิจ คือ ทุเรียน มะม่วง มังคุด อาหารส่งออก และสินค้าส่งออกซึ่งเป็น 1 ในปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศ สามารถตรวจเชื้อโควิด-19 ในตู้คอนเทนเนอร์ กล่องแพ็กเกจจิ้ง และพื้นผิวประเภทต่าง ๆ

โดยชุดตรวจ Real Time PCR แบบ (Angentex® COVID-19 qPCR Detection Kit (with IC) ของบริษัทได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เป็นรายแรกของไทย

ทั้งยังได้รับรางวัลชนะเลิศสาขาผลิตภัณฑ์ (Product) จาก The International Innovation Awards (IIA) 2021 มาต่อยอดในการสนับสนุนงานวิจัยการประเมินความเสี่ยง SAR-CoV-2 และไวรัสก่อโรคที่ติดต่อผ่านอาหาร” ของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร หรือ สวพ. และสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าไทยในระดับสากล

“ในปีที่ผ่านมา BIS ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและผลิตชุดตรวจโควิด-19 แบบ Real Time PCR เป็นรายแรกของไทย โดยผลิตภัณฑ์ของ BIS ได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข มีการใช้จริงในโรงพยาบาลและห้องแล็บปฏิบัติการชั้นนำต่าง ๆ ตั้งแต่เดือนกันยายนในปี 2563 ที่ผ่านมา ด้วยคุณภาพสูง ได้มาตรฐาน ราคาคุ้มค่า ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมแก้ปัญหาการขาดแคลนชุดตรวจในประเทศได้เป็นอย่างดี”

“ปัจจุบันโรคโควิด-19 ยังคงมีการแพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้ยังคงมีการรายงานถึงเชื้อที่ปนเปื้อนไปกับอาหารและสินค้าต่าง ๆ ซึ่งการส่งออกสินค้าในระดับสากลหากมีการปนเปื้อนจะไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทันที ในขณะที่ประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของการส่งออกผลไม้ที่สำคัญของประเทศไทย ยังมีนโยบาย Zero COVID จึงทำให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่เป็นช่วงฤดูกาลส่งออกผลไม้ของประเทศไทย อาทิ ทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีราคาสูง อีกทั้งยังเน่าเสียได้ง่าย BIS จึงพัฒนานวัตกรรมชุดตรวจที่ขยายไปสู่การตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนในกระบวนการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นอาหาร บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนตู้คอนเทนเนอร์”

นสพ.สุชาติ วรวุฒางกูร กรรมการ บริษัท ไบโอซายน์ แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด (มหาชน) หรือ “BIS” เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 บริษัท โปร เทส คิท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย BIS ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม Angentex® COVID-19 qPCR Detection Kit (with IC) มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดเด่นเรื่องการตรวจโรคโควิด-19 ได้อย่างแม่นยำ ใช้งานได้สะดวกและรวดเร็ว สามารถตรวจจากตัวอย่างทั้งในคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบัน BIS ได้ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่สามารถนำมาตรวจในผลไม้และพื้นผิวของผลไม้ต่าง ๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานให้กับสินค้า

ปัจจุบันการส่งออกสินค้าเกษตรถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสินค้าสำคัญของการส่งออกของไทย BIS ได้ทำการผลิตชุดตรวจโควิดในทุเรียน ผลไม้ อาหารส่งออก บรรจุภัณฑ์และตู้คอนเทนเนอร์ โดยร่วมต่อยอดวิจัยเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกับ สวก. สวพ. และสมาคมได้เป็นอย่างดี ในเรื่องของการตรวจหาเชื้อปนเปื้อน ป้องกันปัญหาการตีกลับผลไม้ส่งออก รวมถึงช่วยลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการส่งออกของไทย

ทั้งนี้ BIS พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนด้านนวัตกรรมเพื่อนำไปตรวจการปนเปื้อนเชื้อทั้งในผลไม้ เนื้อสัตว์ รวมไปถึงอาหารแช่แข็งต่าง ๆ เพื่อลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นกับเกษตรกรและผู้ส่งออกของประเทศไทย

อีกทั้งยังเป็นการควบคุมมาตรฐานให้เป็นไปตามหลักสากล อันจะนำมาสู่ชื่อเสียงและความเชื่อมั่นในการเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารอันดับต้น ๆ ให้ประเทศไทยกลายเป็นครัวของโลกที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน

นอกจากผลิตภัณฑ์นวัตกรรม Angentex® COVID-19 qPCR Detection Kit (with IC) แล้ว BIS ยังคงมุ่งมั่นในการทำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับนักวิจัยจากสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศ อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์ไบโอเทค มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อไปยังจุดมุ่งหมายของการเตรียมก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านไบโอเทคของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

ล่าสุด บริษัท ไบโอซายน์ แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2565 โดยมีรายได้รวม 540 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 429 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 26% และมีกำไรสุทธิ 17 ล้านบาท เติบโต 47% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 11.5 ล้านบาท

ซึ่งผลประกอบการทั้งรายได้และกำไรของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก คือ 1. กลุ่มยาและวัคซีนสัตว์  (Animal Health) 2. กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินสัตว์ (Nutrition) ซึ่งเติบโตสูง และ 3. กลุ่มชุดตรวจโรคสัตว์ (Diagnostic) ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มรวมกันสร้างรายได้ 65% ของรายได้รวม โดยเฉพาะชุดตรวจโรคอหิวาต์แอฟริกyoในสุกร (African Swine Fever : ASF)  มีการเติบโตของรายได้เติบโตสูงสุด  เพราะเป็นอุปกรณ์สำคัญในการควบคุมการแพร่กระจายของโรคนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์โดยตรง จึงมีความต้องการสูงจากกลุ่มฟาร์มสุกร นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์กลุ่มวัตถุดิบอาหารสัตว์ มีรายได้เติบโตสูงเช่นกัน