
กยท. ประกาศจุดยืน ผลักดัน Zero Carbon ในสวนยาง บนเวที World Rubber Summit 2022 สิงคโปร์เจ้าภาพร่วม IRSC ภาครัฐ ภาคเอกชน อินเดียรับเบอร์บอร์ด บริษัทยางล้อรายใหญ่ของโลก เข้าร่วม
วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 รายงานข่าวระบุเมื่อวันที่ 24 – 25 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยนายณกรณ์ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมสุดยอดยางโลก ประจำปี 2022 (World Rubber Summit 2022) ณ ประเทศสิงคโปร์ จัดโดยองค์การศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ (International Rubber Study Group: IRSG) ซึ่งมีผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชน เช่น อินเดียรับเบอร์บอร์ด บริษัทยางล้อรายใหญ่ของโลก เข้าร่วม ประกาศจุดยืนผลักดันมาตรการ Zero Carbonในสวนยาง
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ประกาศจุดยืนในงานประชุมสุดยอดยางโลก ปี 2022 ว่า จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศของโลกส่งผลต่อผลผลิตภาคการเกษตร ไม่เว้นแม่แต่ยางพารา กยท. เป็นองค์กรที่บริหารจัดการยางพาราทั้งระบบของประเทศไทย
ซึ่งมีพื้นที่การปลูกยางพาราอยู่กว่า 18 ล้านไร่ทั่วประเทศ ได้ตระหนักถึงในเรื่องนี้โดยได้วางเป้าเป็นผู้นำในการผลักดันนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนจนนำไปสู่การจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยางพารา เป็นการเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันและโอกาสทางการค้าให้กับประเทศไทย
โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมไปถึงการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ เช่น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ นวัตกรรมในการพัฒนาศักยภาพในการจัดการสวนยางพาราอย่างยั่งยืนตามมาตรฐาน โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรชาวสวนยางสามารถสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิตในสวนยางพาราได้อีกทางนึง
นอกจากนี้ กยท. ร่วมมือภาคเอกชนนำแพลทฟอร์มแอพพลิเคชั่น RubberWay มาใช้เพื่อการสำรวจวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานยางพารา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการจัดการมาตรฐานสวนยางพาราของประเทศไทย พร้อมกันนี้ กยท. ได้จัดทำคู่มือการจัดการสวนยางที่ดีให้สอดคล้องกับหลักจัดการมาตรฐานสวนยางสากลเผยแพร่ความรู้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง
ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 1 ล้านไร่ และมีเป้าหมายขยายไปยังสวนยางทั่วประเทศ ทั้งนี้ ได้จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจและกองทุนเพื่อดำเนินการเรื่องนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเป็นผลลัพธ์ไปสู่การจัดทำคาร์บอนเครดิตในสวนยางพาราอย่างยั่งยืน
“วันนี้ กยท. พร้อมนำสวนยางพาราของไทยเข้าสู่การมาตรการ Zero Carbon ยกระดับสวนยางสู่มาตรฐานสากลด้านสิ่งแวดล้อม ที่สามารถเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้า สร้างธุรกิจได้ และรักษ์โลกไปพร้อมๆ กัน”