ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ค. 65 ดิ่งต่ำสุดรอบ 9 เดือน น้ำมันแพง-ค่าครองชีพพุ่ง

หอการค้า

หอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลง 40.2 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ผลจากปัญหาราคาน้ำมันสูงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น จับตาไตรมาส 3 การประชุมไตรภาคีแรงงาน ประชุม กนง. แรงกดดันต่อเศรษฐกิจ ราคาสินค้า เงินเฟ้อ

วันที่ 9 มิถุนายน 2565 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม 2565 ปรับตัวลดลง 40.2

นอกจากนี้ ยังพบว่าดัชนีภาระค่าครองชีพอยู่ที่ระดับ 6.1 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 17 ปี 1 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 5 และเป็นขาลง รวมไปถึงดัชนีความเชื่อมั่นในการหางานทำ เศรษฐกิจมีการปรับตัวลงทุกรายการ ซึ่งเป็นผลกระทบจากราคาน้ำมัน สงครามรัสเซีย-ยูเครน และไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน การท่องเที่ยว จึงส่งผลต่อเศรษฐกิจ ประกอบกับการปรับตัวของน้ำมันดีเซลในเดือนมิถุนายนนี้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแล การตรึงราคาน้ำมันในไตรมาส 3 การผ่อนคลายการเปิดประเทศให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การกระจายกิจกรรมร้านธงฟ้าไปในกลุ่ม พื้นที่ผู้ที่มีรายได้น้อย การพิจารณาดูแลค่าไฟฟ้า (Ft) โดยหน่วยงานที่ดูแล ประชาชนอยู่ได้ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำในไตรมาส 3 ซึ่งไตรภาคีแต่ละจังหวัดจะมีการหารือกัน

โดยเห็นว่าการปรับนั้นจำเป็นจะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม ไม่เช่นนั้นจะเป็นแรงกดดันต่อราคาสินค้า การผลิต รวมไปถึงทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ย ครั้งหน้า ของ กนง. เพราะจะมีผลต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ พร้อมกันนี้ หอการค้าไทยเตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย ขณะนี้ยังมองอยู่ในกรอบ 2.5-3.5%

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยกลุ่มตัวอย่าง 2,244 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 40.2 เป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ปรับตัวลดลงจากเดือนที่แล้ว 40.7

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 34.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม อยู่ที่ระดับ 37.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 48.5 เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนเมษายน 2565 ปรับตัวลดลงทุกรายการ

อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนยังคงกังวลในวิกฤต COVID-19 ในประเทศไทยและทั่วโลกที่ยังคงมีอยู่แม้ว่าจะคลายตัวลงก็ตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง

สำหรับปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เช่น ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ผ่อนคลายมาตาการในการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยยกเลิกการกักตัวทุกรูปแบบ สำหรับคนไทยไม่ต้องลงทะเบียนผ่านระบบ Thailand Pass และไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเข้าประเทศ ส่วนชาวต่างชาติยังต้องลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass รวมทั้งผ่อนคลายให้เปิด สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือ สถานอื่นที่มีลักษณะคลายกัน สามารถกลับมาเปิดบริการได้ในพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) แต่ต้องเข้มงวดตามมาตรการสาธารณสุข เริ่มวันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป

ซึ่งจะเป็นผลเชิงบวกต่อการท่องเที่ยวและภาคบริการต่าง ๆ ของไทย การฉีดวัคซีนทั่วโลกทำให้สถานการณ์โควิดปรับตัวดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลง การส่งออกของไทยขยายตัว ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สูง

ส่วนปัจจัยลบ เช่น ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซล หลังจากที่รัฐบาลตรึงราคาไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร โดยเดือนมิถุนายน 2565 ราคาขึ้นมา 3 บาทต่อลิตร ราคาสินค้าสูงขึ้น เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพสูง ความกังวลปัญหารัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ต้นทุนการผลิต โควิด-19 ค่าเงินบาท เป็นต้น