ครม.เคาะจัดตั้งกองทุน FTA เตรียมยกร่าง พ.ร.บ.-เปิดรับฟังความเห็นทั่วประเทศ

FTA

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย ครม. เห็นชอบจัดตั้งกองทุน FTA เตรียมยกร่าง พ.ร.บ. พร้อมเปิดรับฟังความเห็นทั่วประเทศ เผยกองทุนฯ ให้ความช่วยเหลือ 2 รูปแบบ ทั้งเงินจ่ายขาดและเงินหมุนเวียน พร้อมทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน

วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดตั้ง “กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า” (กองทุน FTA) ซึ่งกรมได้เตรียมยกร่าง “พ.ร.บ.กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า พ.ศ. …” หรือร่าง “พ.ร.บ.กองทุน FTA” แล้ว

และเตรียมจัดรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องต่อร่างดังกล่าว หลังจากที่ได้รับแจ้งมติคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ จากคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้เสนอเรื่องเข้า ครม. ทั้งนี้ คาดว่ากระบวนการรับฟังความเห็น จะใช้ระยะเวลา 3-4 เดือน ก่อนที่จะนำร่าง พ.ร.บ.เสนอคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการกฤษฎีกา และรัฐสภา ตามกระบวนการตรากฎหมายของไทยต่อไป

กองทุน FTA มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ทั้งภาคการผลิตสินค้าเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยจะให้ความช่วยเหลือ 2 รูปแบบ คือ เงินจ่ายขาด อาทิ ค่าใช้จ่ายในการจัดหาที่ปรึกษา ฝึกอบรม และการตลาด และเงินหมุนเวียน อาทิ ค่าลงทุนต่าง ๆ ค่าเครื่องมือและอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายหมุนเวียน

นอกจากนี้ กองทุน FTA จะทำงานร่วมกับหน่วยงานข้อกลางต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตร วิชาการ และธนาคาร อาทิ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด มหาวิทยาลัย ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ (ธ.ก.ส.) และ SME Bank เพื่อเชื่อมโยงกลุ่มผู้ขอรับการช่วยเหลือในพื้นที่ต่าง ๆ กับกองทุน FTA

นอกจากนี้ หน่วยงานข้อกลางจะช่วยสนับสนุนกลุ่มผู้ขอรับการช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ อาทิ การให้คำปรึกษา การริเริ่มและช่วยเหลือการจัดทำข้อเสนอโครงการ การพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการ การจัดส่งข้อเสนอโครงการต่อกองทุน การดำเนินและกำกับโครงการ การเบิกจ่าย และการรายงานผลการดำเนินการต่อกองทุน

“สำหรับการพิจารณาอนุมัติโครงการช่วยเหลือที่ขอผ่านหน่วยงานข้อกลางเข้ามานั้น กองทุนจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน เพื่อพิจารณาอนุมัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะกำหนดต่อไป อาทิ เป็นกลุ่มผู้ผลิตสินค้าหรือบริการที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า

โดยผลการศึกษา ระบุว่า ภาคการผลิตหรือภาคบริการที่ขอรับความช่วยเหลือนั้น อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งการจัดตั้งกองทุน FTA อย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นกลไกสำคัญเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาก FTA และเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางการค้าของภาครัฐที่จะช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ”

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีการจัดทำ FTA 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 63 ของมูลการค้าไทยกับโลก ซึ่ง FTA ฉบับล่าสุดของไทยคือ RCEP ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้ว เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 นอกจากนี้ ไทยอยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับตุรกี ปากีสถาน ศรีลังกา สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ และ FTA อาเซียน-แคนาดา รวมทั้งอยู่ระหว่างเตรียมการเปิดเจรจา FTA ในอนาคต กับสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร