ไทยเขย่า FTA 15 ฉบับ ปลุกการค้า ฝ่าเศรษฐกิจโลกถดถอย

FTA

ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างแต้มต่อให้กับประเทศต่าง ๆ ในการแข่งขันที่รุนแรงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่เผชิญวิกฤตถดถอยในขณะนี้

ในส่วนของประเทศไทย ได้จัดทำ FTA ไปแล้ว 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 63.5% ของมูลค่าการค้าไทยกับประเทศที่มี FTA หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 342,959 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกมูลค่า 166,960 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 61.6% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย และอีก 36.5% ของมูลค่าการค้าไทยกับประเทศที่ไม่มี FTA

FTA ฉบับล่าสุด

โดยล่าสุดไทยประกาศบังคับใช้ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 และจากนั้นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้ประกาศเปิดการเจรจาจัดทำ ความตกลง FTA ไทยและสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา

โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม FTA ไทย-EFTA รอบแรก เมื่อวันที่ 28-30 มิถุนายน 2565 ที่กรุงเทพฯ ใน 2 ระดับ คือ ระดับหัวหน้าคณะเจรจา โดยมีนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะ และการเจรจากลุ่มย่อย โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้ง 2 ฝ่ายเข้าร่วม

สำหรับการหารือรอบแรก ได้วางโครงสร้าง แนวทาง รูปแบบของการเจรจา ฝ่ายไทยเสนอให้ตั้งเป้าหมาย สามารถสรุปผลการเจรจาให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี พร้อมทั้งกำหนดหัวข้อย่อย 16 หัวข้อ คือ การค้าสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าและความร่วมมือด้านศุลกากร การอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรการอุปสรรคเทคนิคต่อการค้า การค้าบริการ การลงทุน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา

การแข่งขันทางการค้า การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ความร่วมมือด้านเทคนิคและการเสริมสร้างศักยภาพ ข้อบททั่วไป ข้อบทสุดท้าย และข้อบทเชิงสถาบัน และการระงับข้อพิพาท สำหรับการเจรจารอบต่อไปของเอฟทีเอฉบับนี้ มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ต.ค.-4 พ.ย. 2565 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

กราฟฟิก เจรจาการค้า

แผน 5 ปี เจรจาการค้า

การโหมโรงเอฟทีเอไทย-EFTA ทำให้หลายฝ่ายตื่นตัวในการเร่งเครื่องมือนี้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มี แผนเจรจาการค้าระหว่างประเทศ 5 ปี ระหว่าง 2565-2570 โดยมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าทางการค้ากับคู่ค้า FTA ครอบคลุมกว่า 80% ภายในปี 2570 จากปัจจุบัน 63.5% ซึ่ง “จำเป็น” ต้องเปิดการเจรจา FTA ในความตกลงกรอบใหม่ ๆ และเร่งสรุปผลการเจรจาที่คั่งค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว และต้องปรับปรุงแก้ไขให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์การค้าโลกรวมทั้งหมด 15 ฉบับ

สำหรับกรอบเจรจาเดิมที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เช่น FTA อาเซียน-จีน (ACFTA), อาเซียน-อินเดีย (AIFTA), อาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA), อาเซียน-ญี่ปุ่น (AJFTA), อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) โดยเฉพาะกรอบนี้ อยู่ระหว่างการเร่งปรับปรุงซึ่งเป้าหมายให้แล้วภายในปี 2565 นี้

ส่วนกรอบเจรจาที่ต้องเร่งสรุปผลของการเจรจา เช่น FTA ไทย-ปากีสถาน (PATHFTA), ไทย-ตรุกี (THTRFTA), ไทย-ศรีลังกา (SLTFTA), BIMSTEC เป็นกรอบความร่วมมือทางวิชาการและเศรษฐกิจระหว่าง 7 ประเทศในภูมิภาคอ่าวเบงกอล ประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย อาเซียน-สหภาพยุโรป

และสุดท้ายกรอบเจรจาใหม่ที่จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้น เช่น FTA อาเซียน-แคนาดา, ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) ซึ่งประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์, ไทย-สหราชอาณาจักร (UK), ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAFTA)

ขณะที่กรอบเจรจา FTA ไทย-สหราชอาณาจักร (UK) ภายหลังจากการแยกตัวจากสหภาพยุโรป ทั้ง 2 ฝ่ายมีเป้าหมายที่จะเจรจา FTA กับอังกฤษเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้คงเดิม เช่นเดียวกับ FTA ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAFTA) ปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการประสานเพื่อเปิดการเจรจา

ส่วน FTA อาเซียน-แคนาดา ที่เริ่มเปิดหารือกรอบเจรจาตั้งแต่ปี 2561 กระทั่งปี 2564 ได้ประกาศผลสำเร็จ และพร้อมเปิดเจรจารอบแรกในเดือนสิงหาคม 2565 นี้ ตั้งเป้าหมายเจรจาให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีนี้

ดันตั้งกองทุน FTA

อีกด้านหนึ่ง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้วางมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากความตกลงเอฟทีเอ โดยนับจากเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดตั้ง “กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า” (กองทุน FTA) ซึ่งกรมได้เตรียมยกร่าง “พ.ร.บ.กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า พ.ศ. …” หรือร่าง “พ.ร.บ.กองทุน FTA” แล้ว ตามที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้เสนอ

ซึ่งในเร็ว ๆ นี้เตรียมจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องต่อร่างกฎหมายดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลา 3-4 เดือน เพื่อปรับปรุงและนำร่าง พ.ร.บ.เสนอคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการกฤษฎีกา และรัฐสภา ตามกระบวนการตรากฎหมายของไทยต่อไป

“สาระสำคัญของกองทุนนี้ รัฐบาลจะจัดสรรเงินงบประมาณใน 3 ปี รวม 5,000 ล้านบาท โดยเริ่มจากปีแรกจัดสรรให้ 1,000 ล้านบาท ปีที่ 2-3 ปีละ 2,000 ล้านบาท ส่วนแหล่งที่มาของรายได้มาจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียม จากผู้ส่งออกที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า ค่าธรรมเนียมจากผู้ขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า คาดว่าจะสามารถจัดเก็บได้ประมาณ 80 ล้านบาทต่อปี”

ขณะที่รูปแบบการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก FTA จะมี 2 รูปแบบ คือ เงินจ่ายขาด เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดหาที่ปรึกษา ฝึกอบรม และการตลาด เงินหมุนเวียน เช่น ค่าลงทุนต่าง ๆ ค่าเครื่องมือและอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายหมุนเวียน ส่วนแนวทางการใช้ประโยชน์จากกองทุน จะมีการตั้ง “หน่วยงานข้อกลาง” ซึ่งมีตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน เกษตร วิชาการ และธนาคาร เพื่อเชื่อมโยงกลุ่มผู้ขอรับการช่วยเหลือในพื้นที่ต่าง ๆ กับกองทุน FTA และควรช่วยเหลือและให้คำปรึกษาด้านต่าง ๆ ด้วย รวมไปถึงการขอความช่วยเหลือด้วย

สถานะกองทุน FTA นี้จะมีลักษณะเป็น “กองทุนถาวร จะช่วยผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ จากกองทุนรูปแบบเดิมที่รอรับงบประมาณประจำปี จึงถือเป็นทางออกสำคัญที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างแท้จริง