ไทยยูเนี่ยนส่ง ‘ไอ-เทล’ บริษัทลูกบุกตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงโลก

ไทยยูเนี่ยน

ในช่วงโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก หลายธุรกิจปิดตัวลง ต่างจาก “ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง” ที่เติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจที่ซบเซา นำมาสู่การสปินออฟ บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC บริษัทลูก ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป หรือทียู สามารถสร้างรายได้เติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 15% ต่อปีต่อเนื่อง จนสร้างยอด 14,529 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา และมีดีกรีเป็นถึงท็อป 10 ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงของโลก หรือท็อป 2 ผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงในเอเชีย และกำลังจะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเร็ว ๆ นี้

แฟลกชิปไทยยูเนี่ยน

นายพิชิตชัย วงศ์ปิยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจไอ-เทลเกิดจากแนวคิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชิ้นส่วนของปลาที่ไม่สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของไทยยูเนี่ยนได้ ให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณค่าทางโภชนาการ รสชาติอร่อย จนได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าเจ้าของแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงชั้นนำทั่วโลก

“ในยุคโควิด-19 คนทำงานที่บ้าน คนยุคใหม่เลือกที่จะโสด หรือมีครอบครัวที่มีสัตว์เลี้ยงเป็นเสมือนสมาชิกคนสำคัญ อาหารสัตว์เลี้ยงคุณภาพระดับพรีเมี่ยมจึงเข้ามาตอบโจทย์”

โมเดลธุรกิจไอ-เทลให้บริการรับจ้างผลิตสินค้า (OEM) อาหารสัตว์เลี้ยงอย่างครบวงจรให้กับแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงชั้นนำของโลก 99% และผลิตภายใต้แบรนด์ ไอ-เทล เอง ได้แก่ Bellotta, Marvo, ChangeTer, Calico Bay และ Paramount มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายกว่า 4,600 ราย ได้รับการจัดจำหน่ายกว่า 45 ประเทศทั่วโลก

“ที่ผ่านมาจากการปรับโครงสร้างไอ-เทลเป็นแฟลกชิปของไทยยูเนี่ยนด้านผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงระดับโลก จึงได้มุ่งพัฒนาสินค้า จุดเด่นของแพลตฟอร์มรับผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีบริการครบวงจรตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะตัว จนถึงการผลิตในทุกขั้นตอน และมีระบบนิเวศเชิงนวัตกรรม เน้นเรื่องความยั่งยืน มีศูนย์ Global Innovation Center และยังมีโรงงานต้นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์สินค้าทดลองให้ลูกค้าก่อนพัฒนาสู่ตลาดจริง รวมทั้งศูนย์ i-Tail Cattery เพื่อศึกษาอาหารสำหรับแมวโดยเฉพาะ”

ซึ่งบริษัทมีความชำนาญในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกที่ผลิตจากเนื้อปลา ซึ่งมีกระบวนการผลิตที่ยากโดยเฉพาะในการที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกมีรูปร่างหน้าตาที่ดี ทั้งรูปแบบของน้ำเกรวี่ น้ำซุป เยลลี่ และร็อกสตาร์ หรือโปรตีนที่เหมือนเนื้อสัตว์ มีคุณค่าทางโภชนาการ และได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แรงงานถูกกฎหมาย สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเด่นและจุดเเข็งของบริษัท

ผลิต 1.7 แสนตันต่อปี

ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร และสงขลา กำลังผลิตรวม 172,786 ตัน/ปี มีคลังสินค้า 68,770 พาลเลต นำระบบการผลิตแบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการควบคุมต้นทุน การผลิตทั้งหมดล้วนผ่านมาตรฐาน GMP HACCP/BRC Global Standard for Safety มีแหล่งวัตถุดิบที่น่าเชื่อถือ โดยปลาทูน่าซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 43-49% ของมูลค่าการสั่งซื้อวัตถุดิบรวม ภายใต้กลุ่มไทยยูเนี่ยน

“ปีนี้มองว่าน่าจะใกล้เคียงปีที่แล้วที่ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วโลกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 5.5-5.8% โดยแบ่งสัดส่วนรายได้ปี 2564 อเมริกา 44.9% ยุโรป 19.4% ญี่ปุ่น 14.5% และจีน 3.2%”

รับมือวิกฤตพลังงาน

“บริษัทได้วางแผนรองรับวิกฤตพลังงานที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มทุกรายการ โดยเฉพาะค่าขนส่ง ค่าเฟรท เเพ็กเกจจิ้งเพิ่ม 10-15% เราได้บัฟเฟอร์วัตถุดิบไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จึงสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดี สะท้อนจากยอดขาย ส่วนการกำหนดราคาขาย หากเทียบกับต้นทุนเเล้ว เราพิจารณาภาวะตลาดเป็นหลัก เงินบาทที่อ่อนส่งผลดีมากน้อยแค่ไหนก็เป็นไปตามกลไลตลาดเรามีทีมมอนิเตอร์เฉพาะ”

สำหรับการที่บริษัทยื่นขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรกและแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับแผนการเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก หรือ IPO จำนวนไม่เกิน 660 ล้านหุ้น ประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 600 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยไทยยูเนี่ยนจำนวนไม่เกิน 60 ล้านหุ้น มีเป้าหมายเพื่อนำมาลงทุนในการปรับปรุงโรงงานทั้ง 2 แห่ง ต่อยอดศักยภาพ ปันผลไม่น้อยกว่า 50%

โอกาสเติบโตสูง

โดยมองว่าโอกาสเติบโตตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงโลก (CAGR) ที่ 7.1% ในอีก 5 ปีข้างหน้าจากปีที่ผ่านมามียอดขายปลีกประมาณ 131,000-135,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะตลาดจีน คาดว่าจะเติบโต 19.8% ต่อปี และในอีก 5 ปีข้างหน้ายังมีช่องว่างในการเติบโตได้อีก เพราะจากรายได้รวมของไอ-เทล จากจีนเพียง 3% เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีตลาดยุโรป และอเมริกา

ขณะที่มูลค่าตลาดรวมอาหารสัตว์เลี้ยงไทย 40,000 ล้านบาท แบ่งเป็นอาหารสุนัข 50% และอาหารแมว 50% ซึ่งผลิตภัณฑ์หลัก ไอ-เทล สอดคล้องกับกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสเติบโตสูงในช่วง 5 ปี (2564-2569) ทั้งอาหารแมวที่คาดว่าจะโต 8.2% ต่อปี และอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกสำหรับแมวและสุนัขที่คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 10.7%

“ข้อได้เปรียบของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นเทรนด์สินค้าที่เติบโตไปอีกหลายปี ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร คนเลี้ยงน้องหมาและน้องแมวก็ยอมจ่ายในราคาที่สูงได้”