ครึ่งปีแรก “บาทอ่อน” ขาดดุล 2.78 แสนล้านบาท

ส่งออก

การส่งออกนับเป็นเครื่องจักรสำคัญในการสร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับไทย แม้ในยามวิกฤตที่ทั่วโลกยังเผชิญโควิด-19 แต่ล่าสุด “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2565 มูลค่า 149,184.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 12.7% สูงเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปีว่าจะขยายตัว 4%

โดยเป็นผลจากการส่งออกล่าสุดในเดือนมิ.ย. 2565 มีมูลค่า 26,553.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11.9% ถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 และเมื่อหากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 10.4%

ตารางครึ่งปีแรก

โผสินค้า-ตลาดสำคัญ

โดยในช่วง 6 เดือนแรก การส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 17.1% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ข้าว ขยายตัว 30.5% ยางพารา ขยายตัว 4.7% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 23.4% อาหาร ขยายตัว 10.2% อาหารสัตว์เลี้ยง 23.2% และน้ำตาล ขยายตัว 138.8% ขณะที่สินค้าที่ส่งออกหดตัว เช่น สุกร แช่เย็น แช่แข็ง ลดลง 95.4%

ส่วนกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 10.5% สินค้าที่ส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัว 6.3% เครื่องใช้ไฟฟ้า 5.8% อัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัว 94.6% เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก ขยายตัว 10.5% สิ่งทอ ขยายตัว 10.0% ส่วนสินค้าส่งออกที่หดตัว เช่น ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 6.3% ผลิตภัณฑ์ยาง 4.4% ถุงมือยาง หดตัว 55.0%

เมื่อพิจารณาตลาดส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก พบว่า กลุ่มตลาดหลักขยายตัว 11.5% อาทิ สหรัฐ ขยายตัว 20.55% จีน ขยายตัว 0.8% ญี่ปุ่น ขยายตัว 1.4% อาเซียน ขยายตัว 18.1% CLMV ขยายตัว 9.9% สหภาพยุโรป ขยายตัว 5.7% ส่วนตลาดที่หดตัว เช่น บรูไน หดตัว 17.7%

ขณะที่ตลาดรอง ขยายตัว 10.4% อาทิ เอเชียใต้ ขยายตัว 35.7% อินเดีย ขยายตัว 46.6% เกาหลีใต้ ขยายตัว 17.9% ตะวันออกกลาง ขยายตัว 21.5% แอฟริกา ขยายตัว 5.1% สหราชอาณาจักร ขยายตัว 8.35% ส่วนตลาดที่หดตัว เช่น ฮ่องกง 1.9% ทวีปออสเตรเลีย หดตัว 3.2% กลุ่มประเทศ CIS หดตัว 34.4% และรัสเซีย หดตัว 36.0%

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการส่งออก

ทิศทางการส่งออกครึ่งปีแรกยังเป็นไปในทิศทางที่ดี ส่วนแนวโน้มการส่งออกครึ่งปีหลัง ยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดการชะลอตัวของการบริโภคที่มีสาเหตุมาจากภาวะเงินเฟ้อโลกที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของผู้บริโภคในต่างประเทศ และยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งหากมีแนวโน้มทรงตัวจะส่งผลต่อภาพรวมความต้องการสินค้า

ขณะที่ปริมาณตู้สินค้าและเรือขนส่งสินค้าที่เคยติดปัญหา ขณะนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น “ค่าเงินบาท” ที่อ่อนค่ามีส่วนช่วยให้การส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศให้สามารถแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งในตลาดโลกได้ และปัจจัยจากที่ทั่วโลกมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงด้านอาหารส่งผลให้ความต้องการสินค้าเกษตร และอาหารเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการฟื้นตัวการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังเติบโตตามการขยายตัวของภาคการผลิตโลก

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ เร่งทำงานเชิงรุกเพื่ออำนวยความสะดวก พร้อมทั้งเตรียมแผนขยายตลาดส่งออกทั้งตลาดหลัก และตลาดใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออก ต่อเนื่องจากที่ได้ดำเนินการในช่วงครึ่งปีแรกที่ได้เปิดการเจรจา FTA ไทย-เอฟต้า การลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-สหราชอาณาจักร

การขยายการจัดทำ Mini-FTA ไทย-ปูซาน เพื่อขยายการส่งออกไปยังเกาหลีใต้ผ่านท่าเรือปูซาน การเจรจากับผู้บริหารศูนย์การค้าของต่างประเทศ เพื่อนำสินค้าไทยไปวางจำหน่ายในศูนย์การค้าของเดนมาร์ก และสหราชอาณาจักร และการจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจกับ ผู้นำเข้าซาอุดีอาระเบีย

นอกจากนี้ เจรจาขยายตลาดส่งออก สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป อาทิ การส่งออกมังคุดไปยังไต้หวันกล้วยหอมไทยและผลิตภัณฑ์แปรรูปสู่ตลาดญี่ปุ่น เป็นต้น

ขาดดุลการค้า

อีกด้านหนึ่ง ภาพรวมการการนำเข้าเดือน มิ.ย. มีมูลค่า 28,082.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 24.5% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1,529.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

ซึ่งส่งผลให้ในช่วง 6 เดือนแรก มีมูลค่านำเข้า 155,440.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 21.0% และไทยขาดดุลการค้า 6,255.9 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากคิดเป็นเงินบาทไทยขาดดุลการค้าสะสมมากขึ้น 2.78 แสนล้านบาท ครั้งแรกในรอบหลายปี จากปมค่าบาทอ่อนค่า

แน่นอนว่าภาพการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากสินค้ากลุ่มเชื้อเพลิงที่มีมูลค่า 32,140 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 91.4% โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม มูลค่า 5,892.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 185.1% และน้ำมันดิบมูลค่า 20,770 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 102% ขณะที่สินค้าทุน ขยายตัวเพียง 10.0% สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ขยาย 11.8% ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ ขยายตัว 44.1%

แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ยังมีสินค้าอีกกลุ่มที่ขยายตัวสูงสุดถึง 888.6% นั่นคือ อาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่นๆ ที่มีการนำเข้ามูลค่า 1,976.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นหนึ่งเหตุผลที่นำมาสู่การขาดดุลการค้าด้วย