สกว.จับมือนักวิจัยมช. แนะชุมชนอยู่อย่างไรกับทัวร์จีน

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว ร่วมกับศูนย์วิจัยโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชียงใหม่ และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ ร่วมกันจัดงานประชุมวิชาการเรื่อง “การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว: ตลาดนักท่องเที่ยวจีน” พร้อมทั้งจัดทำ Familiarised Trip Lanna Oriental Trip เพื่อเป็นการเรียนรู้และเข้าใจนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และร่วมหาแนวทางในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจีน เพื่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

“กรวรรณ สังขกร” สังกัดสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้อำนวยการแผนงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว: ตลาดนักท่องเที่ยวจีน” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า

นักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มตลาดใหญ่ที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมหาศาล จากสถิติการท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2552 มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในไทย 0.77 ล้านคน และในปีล่าสุด พ.ศ. 2559 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากถึง 8.3 ล้านคน โดยเฉพาะเห็นได้ชัดเจนหลังจากมีการฉายภาพยนตร์เรื่อง The Lost in Thailand ปลายปี พ.ศ. 2555 ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมมาท่องเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง ตลาดนักท่องเที่ยวจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด คาดการณ์ว่าในปี 2561 จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศถึง 154 ล้านคนซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะ

แนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนในประเทศไทยเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จากข้อสันนิษฐานว่าเกิดจากกระแสนิยมไทยในจีน โดยเฉพาะละครโทรทัศน์ของไทยที่แพร่หลายในเว็บไซต์จีนและได้รับความนิยมในหมู่ผู้ชมชาวจีน ประกอบกับมีการฉายภาพยนตร์เรื่อง The Lost in Thailand ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมมาท่องเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง และทำให้ผู้ประกอบการไทยตั้งรับนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาอย่างมหาศาลไม่ทัน นอกจากนี้คนในท้องถิ่นยังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทั้งในแง่บวกและลบจากนัดท่องเที่ยวจีนอีกด้วย

จากปัญหาดังกล่าว สถาบันวิจัยสังคมจึงได้รับมอบหมายจาก สกว. ให้ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดของนักท่องเที่ยวจีนเพื่อนำเสนอทางออก และหาแนวทางในการรองรับนักท่องเที่ยวจีนในพื้นที่ ซึ่งแผนงานวิจัยฯ ได้ศึกษา 2 ส่วน คือ

โครงการย่อยที่ 1 ศึกษาตลาดนักท่องเที่ยวจีนต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย
โครงการย่อยที่ 2 ศึกษาและพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเดินทางของนักท่องเที่ยวจีน

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีน และผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยและคนท้องถิ่น ศึกษารูปแบบและวิธีการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีน พัฒนาสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมตลาดและลดปัญหาการท่องเที่ยวของกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน นำไปสู่การพัฒนาประเทศด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

“เรามีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินงานศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดของนักท่องเที่ยวจีนเพื่อนำเสนอทางออก และแก้ปัญหาอันเกิดจากนักท่องเที่ยวจีนในพื้นที่ ลดผลกระทบเชิงลบ และการส่งเสริมผลกระทบเชิงบวก ทำให้ทั้งนักท่องเที่ยว คนท้องถิ่น และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ สกว. ที่เน้นการวิจัยและพัฒนา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยคณะผู้จัดงานมีความคาดหวังว่าผู้เข้าร่วมประชุมจะได้เรียนรู้และเข้าใจนักท่องเที่ยวจีน เพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นจากการนำเสนอผลการศึกษาของแผนงานวิจัย วางแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยวหลักและเมืองท่องเที่ยวรอง เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนภาคเหนือและประเทศไทยต่อไป” ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย สกว. ระบุ

“กรวรรณ” กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะวิจัยได้ศึกษาพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวจีนนักท่องเที่ยวจีน ทั้งแบบกรุ๊ปทัวร์ และนักท่องเที่ยวจัดทัวร์เอง รวมทั้งศึกษาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจากนักท่องเที่ยวชาวจีน ผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิผู้ ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว สมาคม องค์กรภาครัฐฯ คนท้องถิ่นใน 4 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง อีกทั้งศึกษาตลาดการท่องเที่ยวของนัก ท่องเที่ยวจีนในปัจจุบัน เพื่อจัดทำแนวทางการปรับปรุงการบริหารจัดการการท่องเที่ยว ข้อเสนอสำหรับพัฒนาตลาดนักท่องเที่ยว และแนวทางการปรับปรุงเนื้อหาข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยวจีน

ขณะที่ “ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ” ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า สกว.ได้สนับสนุนทุนวิจัยด้านการท่องเที่ยวสำหรับโครงการเร่งด่วน ซึ่งเป็นความต้องการของหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนขับเคลื่อนการบูรณาการงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวกับอุตสาหกรรมท้องถิ่นหรือวิสาหกิจชุมชน เพื่อสนองตอบนโยบายรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการบริการมูลค่าสูงด้านการท่องเที่ยว โดยผลวิจัยจะมีผลกระทบทั้งในเชิงวิชาการ เชิงชุมชนและสังคม เชิงสาธารณะ เชิงนโยบายและเชิงพาณิชย์ ให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ รวมถึงสร้างรายได้และสร้างความเข้มแข็งในระดับชุมชนท้องถิ่น

ผลสรุปจากงานวิจัยสามารถสกัดองค์ความรู้ได้ 8 ประเด็น คือ

1. การเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์และผู้ประกอบการ
2. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการท่องเที่ยว
3.การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน
4. การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน
5. การใช้เทคโนโลยีและสื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว
6.การอนุรักษ์ฟื้นฟูและการจัดการสิ่งแวดล้อม
7.การท่องเที่ยวแบบความสนใจพิเศษของนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม
8. การบริหารจัดการการท่องเที่ยว

“บทบาทการวิจัยต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว สามารถมองได้หลายมิติ ซึ่งงานวิจัยสามารถเป็นข้อมูลสนับสนุนนโยบายภาครัฐ เป็นแนวทางในการสร้างรายได้ให้แก่วิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่น รวมถึงส่งเสริมงานทางวิชาการ ทั้งนี้การพัฒนางานวิจัยของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือและบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้งานวิจัยมีส่วนช่วยแก้ปัญหาและเป็นข้อมูลสนับสนุนให้แก่หน่วยงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ” ผู้อำนวยการ สกว.กล่าวสรุป