จุฬาฯ ประชุมวิชาการผู้นำการศึกษาแปซิฟิก เตรียมวิจัยรับมือโรคระบาด

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์

จุฬาฯ ประชุมวิชาการเอเปค รวมผู้นำการศึกษาเครือข่ายมหาวิทยาลัย 60 แห่ง มหาสมุทรแปซิฟิก หารือเตรียมพร้อมงานวิจัยรับมือโรคระบาดใหม่ เน้นย้ำงานวิจัยชีวการแพทย์ 

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน APEC University Leaders Forum 2022 การประชุมที่ผู้นำธุรกิจ ผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษา และอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ใน The Association of Pacific Rim Universities หรือ APRU ซึ่งเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิก 60 แห่งจาก 19 เขตเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคเอเปก เข้าร่วมประชุมเพื่อวางแผนความร่วมมือระหว่างสถาบัน ภายใต้หัวข้อ “การเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดครั้งต่อไป” หารือถึงวิธีการเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัวของโลก หากเกิดโรคระบาดอีกครั้ง โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกว่า 20 คน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานวิจัย กลยุทธ์ และนโยบายร่วมกัน 

ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชื่อในพลังความร่วมมือและมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับสถาบันอื่น ๆ และเครือข่าย APRU และผู้นำ เพื่อที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ซึ่งการประชุมจะเป็นการหารือการค้นหาวิธีการสนับสนุนความพยายามร่วมกันในการทำวิจัย การวางกลยุทธ์ และการจัดการกับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

รวมถึงความร่วมมือด้านงานวิจัยชีวการแพทย์ (Partnering on Biomedical Research) เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาปรับปรุงการตอบสนองทางชีวการแพทย์ เช่น การผลิต แจกจ่ายสินทรัพย์ทางชีวการแพทย์และการรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพในสถานการณ์ฉุกเฉินระดับโลก

รวมถึงประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรมของการระบาดใหญ่ เกี่ยวกับความร่วมมือด้านกลยุทธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งได้กล่าวถึงโอกาสและความท้าทายในการกำหนดกลยุทธ์ด้านสาธารณสุขในโลกที่มีความหลากหลายแต่เชื่อมโยงถึงกัน และความร่วมมือในการต่อสู้กับภาวะข้อมูลระบาด และอีกประเด็นสำคัญคือหัวใจของโลกดิจิทัล ความร่วมมือในการต่อสู้กับภาวะข้อมูลที่เป็นเท็จและข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดเรื่องโรคระบาดและเรื่องเร่งด่วนในหลายประเทศเพื่อจัดการกับปรากฏการณ์นี้ร่วมกัน

ขณะที่ศาสตราจารย์ ร็อกกี้ เอส ตวน รองประธาน APRU และอธิการบดี The Chinese University of Hong Kong กล่าวว่า ความเร่งด่วนในการส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านการวิจัยชีวการแพทย์ในเอเชีย-แปซิฟิก แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกจะพ้นจากเงามืดของการแพร่ระบาดโควิด-19 แล้ว แต่ประสบการณ์ร่วมกันของพวกเราในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้พวกเราเห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกันเป็นทีม ระหว่างภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาควิชาการ กลุ่ม NGO และชุมชนในยามที่ต้องหาทางจัดการกับวิกฤตสุขภาพระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการค้นคว้าวิจัย การผลิต การรวมตัวกัน และการแจกจ่ายทรัพยากรทางชีวการแพทย์และการรักษาโรค

ส่วนศาสตราจารย์ เดโบราห์ เทอร์รี่ อธิการบดี The University of Queensland ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า เอเชีย-แปซิฟิกเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก การประเมินบทบาทของบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในชุมชนต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเผชิญกับภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ทั่วโลก เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างหลักประกันว่าพวกเราสามารถวางแผนสำหรับอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม ยุติธรรม และครอบคลุม

ด้านศาสตราจารย์ ดอห์น เฟรชวอเทอร์ รองอธิการบดี The University of Auckland ประเทศนิวซีแลนด์ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง “Infodemic” ว่า โลกของพวกเรานั้นเชื่อมต่อกันมากขึ้นกว่าเดิมในยุคดิจิทัลนี้ ข้อมูลจะถูกส่งต่อและแบ่งปันภายในเศษเสี้ยววินาทีข้ามพรมแดน ภาษา และความเชื่อ การต่อสู้กับข้อมูลที่ผิดและถูกบิดเบือนจะมีความสำคัญในการดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ ในบริบทนี้ ความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการบรรลุเป้าหมาย

จุฬาฯ ประชุมวิชาการ

จุฬา ประชุมวิชาการ