เอเปค-ประเทศไทย 2022 ความมุ่งหมาย ความสำเร็จ และความน่ากังวลใจ

วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดอภิปรายวิชาการในหัวข้อ “เอเปค-ประเทศไทย 2022 : ความมุ่งหมายและความสำเร็จ” ศึกษาและร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นเกี่ยวการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค 2022 ของประเทศไทย

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดอภิปรายวิชาการในหัวข้อ “เอเปค-ประเทศไทย 2022 : ความมุ่งหมายและความสำเร็จ” APEC-THAILAND 2022 : CHALLENGES AND ACHIEVEMENT

โดยมีรองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ ดร. กอบศักดิ์ ชุติกุล ที่ปรึกษากรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา ดร. วนัน เพิ่มพิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์กร Climate Watch Thailand คุณหลี่ ซีเจีย นักศึกษาชาวจีนในโครงการไทยศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร ร่วมเสวนา

เอเปค
รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ

รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ ปาฐกถาเปิดการเสวนา เรื่อง ความท้าทายของเอเปคในการส่งเสริมบทบาทสตรี ว่า ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปค 2022 ให้ความสำคัญกับบทบาทของสตรีในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยตระหนักถึงปัญหาหลายประการอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิสตรี ความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฏิบัติ ทั้งสตรีในกลุ่มชาติพันธุ์ สตรีผู้พิการ และสตรีในชนบท

เพื่อให้สตรีได้เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ ตลาดทุน และเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ ผลักดันให้สตรีได้ขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญขององค์กรได้มากขึ้น ด้วยแนวคิดหลักคือการสร้างความสมดุลในการยอมรับบทบาทของสตรีอย่างทั่วถึงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

จากการสำรวจของสถาบันวิจัย CSRI พบว่าจำนวนซีอีโอที่เป็นผู้หญิงทั่วโลกมีอยู่เพียงแค่ 5.5% โดยจำนวนผู้บริหารหญิงที่เป็นกรรมการในบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 24%

สำหรับประเทศไทย จากการศึกษาของตลาดหลักทรัพย์ มีค่าเฉลี่ยที่ 21% ในปี 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2562

เมื่อพิจารณาประเทศในกลุ่มเอเปค สัดส่วนผู้บริหารหญิงมีจำนวนที่มากขึ้นในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และมาเลเซีย มีค่าเฉลี่ยที่ 34% ในขณะที่จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้มีเพียง 9% เท่านั้น ผู้หญิงจึงต้องเผชิญกับความท้าทายที่สูงกว่าในการเข้าไปสู่ระบบที่มีอำนาจตัดสินใจ

นอกจากนี้ผู้หญิงยังมีภาระงานที่เพิ่มขึ้นทั้งงานนอกบ้านและในบ้าน ประกอบกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่ต้องเป็นเหยื่อของความรุนแรงและความไม่สมดุลในชีวิต ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันขจัดความไม่เท่าเทียมดังกล่าว และปลูกฝังให้เห็นคุณค่าในชีวิต ที่ทุกเพศทุกวัยสามารถพัฒนาไปยังจุดที่ตนเองต้องการได้

ไทยปักหมุดเวทีโลก ความสำคัญของเอเปค

อธิบดีธานี กล่าวว่า เอเปค 2022 มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับบทบาทประเทศไทยบนเวทีโลก หลายปีที่ผ่านมาเอเปคได้รวมหลายประเด็นเข้ามา ทั้งบทบาทสตรี พลังงาน สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข เรียกได้ว่าเกือบทุกกระทรวง เพื่อจุดมุ่งหมาย คือ ความจำเป็นเร่งด่วนในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือในทุกภาคส่วน เอเปคให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมของทุกเขตเศรษฐกิจในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยเศรษฐกิจที่เป็นสีเขียวมากขึ้น

ด้วยแนวคิดหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” (Open-Connect- Balance) เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุง ไม่ให้เศรษฐกิจกลับไปล็อคดาวน์อีกครั้งหนึ่ง สร้างกลไกเพื่อให้ไม่เป็นแบบเดิม และเป้าหมายกรุงเทพ 2022 เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน การค้าการลงทุนอย่างยั่งนืน ลดช่วงว่างทางสังคม อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการบริหารจัดการของเสีย

สำหรับเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) จะแทรกไปในเป้าหมายกรุงเทพทุกขั้นตอน ไทยไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้คนเดียว แต่ทุกเขตเศรษฐกิจเห็นว่าเป็นวาระสำคัญของโลก ซึ่งภาคเอกชนบางทีทำได้ดีกว่าภาครัฐ ก้าวหน้ากว่าในหลาย ๆ เรื่อง และคิดว่าภาครัฐด้วยซ้ำไปที่ต้องทำมากขึ้น

ความท้าทายที่สุดในการประชุมเอเปคคราวนี้ คือ สถานการณ์ระหว่างประเทศ ที่มีความเห็นแตกต่างกัน ซึ่งถ้ามีเรื่องที่เห็นต่างกันก็ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับเหตุการณ์โลกที่เกิดขึ้น เราต้องบอกว่าเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกเขตเศรษฐกิจและอาเซียน เรามีพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ ดังนั้นประเด็นเปราะบางก็อาจจะไม่ได้หยิบยกมาพูดนัก

สุดท้าย ธานี กล่าวว่า จะมีผู้คนเดินทางเข้ามามากมาย เป็นโอกาสอันดีในการนำเสนอ soft power และชีวิตของคนไทย ส่วนเราจะได้แนวทางการป้องกันสถานการณ์โลกที่อาจจะเกิดได้ในอนาคต การเดินทางท่องเที่ยวที่จะสะดวกและปลอดภัยมากขึ้นจากการร่วมมือกันกับเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ

พลวัตและบทบาทของเอเปค

ดร. อนุสรณ์  กล่าวว่า ถ้าถามว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร อันนี้ไม่ใช่พื้นฐานของวิธีคิดที่จะเกิดการบูรณาการทางเศรษฐกิจหรือการรวมกลุ่มใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เรามีสิทธิ์ในการวางสถานะตัวเองในเชิงยุทธศาสตร์หรือนโยบายที่จะก่อประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมหรือประชาชนส่วนใหญ่ให้มากที่สุด

เอเปคเกิดจากความริเริ่มของออสเตรเลียในปี 1989 (พ.ศ.2532) ที่เกิดความไม่ชัดเจนว่าจะไปอยู่กับกลุ่มใด ระหว่างเอเชียและยุโรป จึงต้องการให้เกิดการรวมเป็นเอเชียและแปซิฟิกขึ้น ออสเตรเลียถึงจะมีส่วนร่วมได้ จากนั้นประเทศต่าง ๆ จึงเห็นประโยชน์และเริ่มเข้าร่วม

เอเปค
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ

ทั้งนี้ ยิ่งเอเปคมีบทบาทมากเท่าใด อาเซียนอาจมีบทบาทลดลง เพราะอาเซียนถือเป็นพาร์ทหนึ่งของเอเปค และที่สำคัญเอเปคมีพลวัตเพราะประเทศมหาอำนาจ ที่มักจะเร่งรัดการมีเสรีทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีขัดแย้งกันเองในเรื่องที่เสียประโยชน์หรือตกลงกันไม่ลงตัว

เอเปคจึงสำคัญต่อโลก ดังนั้นจึงสำคัญต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจล้วนเป็นคู่ค้าของไทย ถ้าเอเปคฟื้นตัว เศรษฐกิจโลกจะฟื้น เนื่องจากมีปริมาณการค้ามากกว่า 50% ของจีดีพีโลก รวมประชากรกว่า 2,700 ล้านคน และช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาเอเชียแปซิฟิกคือภูมิภาคที่มีการเจริญเติบโตมากที่สุด

จากความสำคัญดังกล่าว แม้เอเปคจะเริ่มด้วยเศรษฐกิจ แต่ต้องทำอะไรให้มากกว่าเศรษฐกิจ จึงเกิดวาระที่มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันที่ผลักดันโดยประเทศพัฒนาแล้ว เช่นเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือแวร์ลู่ที่ต้องสร้างขึ้น

ส่วนตัวจึงมองว่าเวทีเอเปคในอุดมคติ ต้องทำให้โลกเกิดการพัฒนาร่วมกัน สร้างสันติภาพ ซึ่งต้องสร้างกลไกและองค์กรที่กำกับดูแลเป้าหมายนี้

แต่หากมองโลกความเป็นจริง ส่วนมากเป็นเรื่องขั้วอำนาจ การต่อสู้แย่งชิง และการจัดสรรผลประโยชน์ ปัญหาของเอเปคจึงมีความซับซ้อน เกิดความสัมพันธ์ที่เรียกว่า 4 เส้า ทั้งความขัดแย้งและร่วมมือกัน เห็นได้จากการที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจที่มาและไม่มาร่วมประชุม อย่างสหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน และญี่ปุ่น และเพื่อประโยชน์ของคนไทยส่วนใหญ่เราจึงต้องประเมินพลวัตของความขัดแย้งนี้ต่อไปในอนาคต

ความกังวลต่อโมเดล BCG

ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า แนวคิดของเอเปค 2022 ที่นำด้วย BCG โมเดล หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy)  ถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี สอดคล้องกับสิ่งที่ควรจะเป็นหลายอย่างในอนาคต แต่บางทีก็ดูเป็นคำประกาศที่สวยหรู จะทำได้จริงต้องมีพลังขับเคลื่อนจากธุรกิจภาคประชาชนทั้งรายเล็กด้วย

สำหรับประเด็น “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open Connect Balance” ถ้าจะเปิดกว้าง ต้องเริ่มจากการเชื่อมปฏิสัมพันธ์ก่อน ซึ่งในทางกายภาพ โดยเฉพาะในอาเซียนก็ยังขาดโครงสร้างพื้นที่ฐานที่สำคัญอยู่ แม้กำลังมีการดำเนินการ ไม่เพียงแค่การเชื่อมทางกายภาพเท่านั้น แต่ต้องมองการเชื่อมโยงแบบดิจิทัลด้วย ซึ่งต้องเกิดอย่างเท่าเทียม

และนั่นถือเป็นเรื่องยากที่ทุกคนจะเข้าถึงทรัพยากรทางดิจิทัล และอุปกรณ์หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็ถูกผูกขาดโดยชาติมหาอำนาจ นั่นคือข้อเท็จจริง ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมการเชื่อมโยงทางความรู้ และปฏิสัมพันธ์ของผู้คนอีกในหลายแง่มุม

ในระดับอาเซียน แม้จะเล็กกว่าเอเปค แต่เมื่อเจรจากันจะป็นชิ้นเป็นอันมากกว่า เพราะเป็นเขตเศรษฐกิจ AEC แล้ว มีเป้าหมายชัดเจน เป็นตลาดเดียว ใช้ฐานการผลิตร่วมกัน สร้างอำนาจต่อรองและแข่งกับภูมิภาคอื่นได้ แต่เป้าหมายของเอเปคยังกว้างและค่อนข้างเลื่อนลอย

เมื่อเอเปคกล่าวว่าจะเป็นภูมิภาคที่ให้ความสำคัญกับประชาชนมากขึ้น อย่างในประเทศไทยครั้งนี้ประกาศให้ช่วงการประชุมเป็นวันหยุดพิเศษ จึงเกิดคำถามขึ้นว่าคนที่มีรายได้รายวันจะทำอย่างไร หากต้องการทำให้ภูมิภาคนี้เกิดความเสมอภาค รัฐบาลต้องดูแลประชาชนของตัวเองด้วย แรงงานอิสระที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการเยียวยาอย่างไร

นี่เป็นหนึ่งในอีกหลายประเด็นที่ขัดย้อนแย้งกับวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ข้อตกลงระหว่างประเทศใด ๆ จึงต้องคิดถึงคนทุกกลุ่มโดยเฉพาะคนระดับล่าง แต่ในความเป็นจริงผู้ที่เสียงดังที่สุดคือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ซึ่งมีอำนาจมากที่สุดและอยู่เบื้องหลังรัฐด้วยซ้ำไป

ถ้ามองในระดับประเทศ เราต้องการผู้นำที่มองสถานการณ์ได้อย่างฉียบขาดและมีความยืดหยุ่นในเวทีโลก เอเปค 2022 จึงเกิดคำถามขึ้นว่า ไทยในฐานะเจ้าภาพได่ริเริ่มอะไรใหม่ ๆ อย่างชัดเจนหรือไม่นอกเหนือจากสิ่งทีทำอยู่ซึ่งดูจะเป็นแฟชั่นเพียงเท่านั้น BCG ใครก็บอกว่าดูดี ให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดเล็กและประชาชนมากขึ้น แต่ถามว่ามีอะไรใหม่สำหรับประเทศและภูมิภาคนี้บ้าง

BCG ฟอกเขียวกลุ่มทุนใหญ่

ด้าน ดร.วนัน กล่าวในประเด็นสิ่งแวดล้อมกับเอเปคว่า ช่วงนี้มีการประชุมผู้นำระดับโลกหลายแห่ง ทั้ง อาเซียนซัมมิท G20 COP27 และเอเปค ทำให้เห็นแนวโน้มพอสมควร ว่าหลายภาคส่วนร่วมให้ความสำคัญกับเรื่องโลกร้อน แต่ถ้าพิจารณาแล้วโลกร้อนเกิดจากการบ่มใช้ทรัพยากรของกลุ่มทุน และอุตสาหกรรมของประเทศที่พัฒนาแล้ว จากการใช้เชื้อเพลิง โดยเฉพาะถ่านหิน ก๊าซ และน้ำมัน ดังนั้นผู้ที่เริ่มทำลายก่อนต้องเป็นคนลดก่อน และต้องให้เงินกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ

แทนที่กลุ่มทุนหรือประเทศพัฒนาแล้วจะหึ้วามช่วยเหลือแบบให้เปล่า แต่กลับไปใช้กลไกการตลาดและชวนภาคธุรกิจให้มาเข้าร่วม สินค้าที่สำคัญตัวหนึ่งคือคาร์บอนไดออกไซด์ ที่สามารถซื้อขายตั้งแต่พิธีสารเกียวโต ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้กลุ่มทุนที่ทำลายโลกมาตั้งแต่อดีตมองเห็นโอกาสของคาร์บอน

ดังนั้นทิศทางที่เห็นจากการประชุมต่าง ๆ กลุ่มทุนจึงค่อนข้างมีอิทธิพลมาก เรียกได้ว่าไม่เคยเห็นความร่วมมือกันเพื่อใช้โอกาสจากเรื่องโลกร้อนมาแสวงหากำไรเท่านี้มาก่อน

เอเปคก็เป็นอีกเวทีหนึ่ง โดยชูเรื่อง BCG ดูเหมือนจะเป็นเรื่องโลกสีเขียว แต่สีเขียวเพียงถูกนำมาแปะให้กลุ่มธุรกิจที่ตัวเองทำอยู่ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการฟอกเขียว ซึ่งประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร ยกตัวอย่างเช่น การนำผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ก็เป็นการลดต้นทุนของกลุ่มทุน ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ฝนไม่ตก น้ำท่วมฉับพลัน ภัยพิบัติ ยังคงไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างชัดเจน

ในทางกลับกันถ้าไม่เอื้อประโยชน์และสิทธิ์ต่าง ๆ กับกลุ่มทุน พวกเขาจะต้องหาวิธีในการลด ละ เลิก การปล่อยคาร์บอนของตัวเอง ซึ่งจะเป็นการลดปริมาณคาร์บอนที่แท้จริง แต่ที่เป็นอยู่คือกลุ่มทุนไม่ได้หาวิธีลดการล่อยคาร์บอนที่แท้จริง แต่หาประโยชน์จากสิ่งแวดล้อม

เอเปคครั้งนี้คิดว่าคงดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะกลุ่มทุนมีความเป็นปึกแผ่นและเดินหน้าเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังได้ประโยชน์จากโลกร้อนอยู่

ประเทศไทยโฆษณาเรื่อง BCG เยอะและเป็นแนวทางที่ไทยกำลังเดินหน้า แต่ส่วนตัวคิดว่าเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มทุนเดินหน้าทำธุรกิจและได้กำไรบนความเดือดร้อนของผู้บริโภค โดยเฉพาะเกษตรกรและกลุ่มชาวประมง

กลุ่มทุนโหมใช้ทรัพยากรอย่างหนัก และเรากำลังสนับสนุน BCG ซึ่งเป็นการฟอกเขียวให้เขาที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ซึ่งรัฐหวังให้เขาทำประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เหมือนอยากให้ผู้ร้ายกลับใจ ก็เลยช่วยและส่งเสริมให้กลุ่มทุนได้ประโยชน์ แทนที่จะมองว่าต้นเหตุคืออะไรและไปจำกัดหรือปรับ ดังนั้นจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด และการเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็นจึงไม่เกิดขึ้น

สงครามรัสเซีย-ยูเครน สิ่งใหม่ของเอเปค

ดร. กอบศักดิ์ กล่าวว่า ความขัดแย้งด้านสงครามเป็นสิ่งใหม่ของเอเปคพอสมควร ตอนไทยรับเป็นเจ้าภาพ ประเด็นใหญ่คงเป็นเรื่องหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่หลังจากนั้นโลกเปลี่ยนไปเมื่อรัสเซียเริ่มบุกยูเครน ทั้งวิกฤตพลังงาน อาหาร อุปทานการผลิต ทำให้การประชุมต้องเปลี่ยนไปในหลายเวที ปัจจัยนอกเอเปคที่มาแทรกจึงเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุด

เอเปค
ดร. กอบศักดิ์

มีคำถามสำคัญว่าการประชุมใหญ่อย่างเอเปค 2022 จะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายหรือไม่ จากสถานการณ์โลกที่เป็นเช่นนี้ และยังไม่นับรวมปัญหาในอาเซียนเอง ว่าจะเป็นอย่างไรต่อในเรื่องของพม่า จะกดดันให้พม่าออกจากอาเซียนหรือไม่ จะขัดแย้งกันหรือไม่ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในอาเซียนเอง

ส่วนเอเปคครั้งต่อไปที่สหรัฐอเมริการจะเกิดการประชุมขึ้นหรือไม่ ถ้าสถานการณ์โลกยังเป็นเช่นนี้ ถ้าไม่เชิญรัสเซีย จีนและประเทศในยุโรปจะแสดงท่าทีอย่างไร เพราะเอเปคไม่ได้เป็นองค์กรรูปธรรม เป็นแค่ความร่วมมือ ไม่มีผลผูกมัด แม้จะเป็นประเทศยังไม่ใช่ และเลี่ยงมาใช้คำว่าเขตเศรษฐกิจแทน

…..