เปิดเทอม 15 พ.ค. นี้ อาชีวะเข้มการรับน้อง แก้ปัญหาความรุนแรงในสถาบัน

ภาค ค อาชีวะ
ภาพจาก มติชน

อาชีวะ เตรียมพร้อมเปิดภาคเรียน 15 พ.ค. 2566 เน้นย้ำมาตรการเฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์ใหม่ระบาด เข้มงวดเรื่องการรับน้องในสถานศึกษา แก้ปัญหาพฤติกรรมความรุนแรง สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครอง 

วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินการเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาสำหรับการเปิดภาคเรียนในวันที่ 15 พฤษภาคม โดยดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ และเน้นย้ำการจัดสภาพแวดล้อมสถานศึกษาให้ปลอดภัย 

โดยเฉพาะการกลับมาแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ซึ่ง สอศ.ได้มีมาตรการให้สถานศึกษาทุกแห่ง ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์การทำความสะอาดให้เพียงพอ และเรื่องภัยธรรมชาติ อาทิ พายุฤดูร้อน สภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น

ว่าที่ร้อยตรีธนุกล่าวต่อว่า จึงขอสถานศึกษาทุกแห่ง ดำเนินการกำชับ สอดส่อง ดูแล ติดตาม เพื่อความปลอดภัยของผู้เรียนรอบด้าน ภายใต้มาตรการดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษาสังกัด สอศ.อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งได้ยกระดับมาตรการป้องกันการแก้ปัญหาพฤติกรรมความรุนแรงของผู้เรียนอาชีวะ เพื่อป้องกันเหตุ ความรุนแรง อาวุธปืนและยาเสพติด 

โดยเพิ่มความเข้มงวดเรื่องการรับน้องในสถานศึกษา กำหนดให้สถานศึกษาปฏิบัติการตามหลักการ 3 ป คือ “ป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปราม” อย่างจริงจังอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการเรียนการสอนของสถานศึกษาสังกัด สอศ. ได้นำการเรียนการสอนรูปแบบ Active Learning มาใช้ช่วยให้ผู้เรียน เรียนอย่างมีความสุข พัฒนากระบวนการเรียนรู้ และทักษะด้วยการลงมือปฏิบัติจริง และกำหนดแนวทางให้ครูกระชับความสัมพันธ์กับผู้เรียนและผู้ปกครองมากขึ้น 

ทำให้เข้าใจผู้เรียนเป็นรายบุคคล มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ปกครองโดยตรง สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครองไว้วางใจในการนำผู้เรียนมาอยู่ภายใต้การดูแลของครู ด้วยการเยี่ยมบ้านผู้เรียน และร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือผู้เรียนที่อาจมีปัญหาในด้านต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและทันท่วงที

มีการสร้างเครือข่ายผู้ปกครองและชุมชนให้ช่วยกันเฝ้าระวัง มีส่วนร่วมในการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัย เพื่อให้ผู้เรียนอาชีวศึกษา ได้เข้าเรียนได้อย่างสบายใจ ผู้ปกครองเกิดความเชื่อมั่นในการเรียนอาชีวศึกษามากยิ่งขึ้น

“รวมไปถึงกำหนดนโยบายให้ผู้บริหารและบุคลากรในสถานศึกษาปฏิบัติตามนโยบายด้านการเงิน การคลัง และพัสดุอย่างถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานมีหลักในการปฏิบัติที่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดความสบายใจ และมีความสุขกับการทำงานมากยิ่งขึ้น ต่อไปอันจะส่งผลดีต่อการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อการพัฒนาประเทศ”