เอนกหารือเอกอัครราชทูตจีน เรื่องวิทยาศาสตร์ และการจัดตั้งศูนย์ไทยจีน

เอนก และ เอกอัครราชทูต

เอนก รมว.กระทรวงอุดมศึกษาฯ พบเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย หารือความก้าวหน้าวิทยาศาสตร์ และการจัดตั้งศูนย์ไทยจีนศึกษาที่จีน 

วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงให้การรับรองนายหาน จื้อเฉียง (H.E. Mr.Han Zhiqiang) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และคณะ ณ วังสวนผักกาด เพื่อหารือความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมร่วมกัน

โดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศไทยมีความก้าวหน้าเป็นไปด้วยดี แต่ต้องเสริมความเชื่อมโยงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจีนมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้เป็นอย่างดีในการทำธุรกิจที่มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐาน ไทยจึงพร้อมเปิดรับความร่วมมือกับจีน พร้อมนำมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยและพัฒนา และภาคธุรกิจมาร่วมขับเคลื่อนในเรื่องนี้

นอกจากนี้ยังมีความสนใจเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างความร่วมมือในพื้นที่ Greater Bay Area (GBA) โดยเฉพาะฮ่องกงที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจและนวัตกรรม มีเทคโนโลยีทันสมัย เป็นศูนย์กลางทางการเงินและบุคลากรที่มีความสามารถระดับสากล เชื่อมโยงการลงทุนกับพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก

ที่สำคัญไทยยังมีแผนที่จะพัฒนากำลังคน และอุตสาหกรรมด้าน Semiconductor ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับการผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีในทุกวันนี้ หากไทยและจีนมีความร่วมมือในเรื่องนี้ได้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของภูมิภาค พร้อมทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น 

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนกกล่าวต่อว่า เร็ว ๆ นี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จะลงนามความร่วมมือกับ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) เพื่อจัดตั้งศูนย์ไทยจีนศึกษาที่จีน โดยเน้นการทำวิจัยไทย-จีนร่วมกัน ขณะที่กระทรวง อว. ก็เพิ่งจะจัดตั้ง “ธัชวิทย์” หรือวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อสร้างเครือข่ายคลังสมองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ

ซึ่งพร้อมที่จะร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์จีนในการจัดทำหลักสูตรระดับปริญญาเอก หรือส่งนักวิจัยไปเรียนรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์ในเรื่องการวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ อย่างที่ผ่านมาจีนได้มอบเครื่องโทคาแมคให้ไทยเพื่อการผลิตพลังงานสะอาด ทำให้เราได้เรียนรู้และพัฒนาคนได้เร็วมาก ไม่ต้องเริ่มจากการนับหนึ่งใหม่ นำสู่การสร้างเครื่องโทคาแมคด้วยฝีมือคนไทยต่อไป 

ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่าไทยกับจีนมีมิตรภาพที่ดี และจีนก็พร้อมสนับสนุนไทยมาโดยตลอด แต่สิ่งที่เรารับมาจากจีนนั้น ต้องเป็นสิ่งที่ทำให้เราพึ่งตนเองได้เช่นกัน

จีนลงทุนในไทยเพิ่ม 87% จากปีก่อน

ด้านนายหาน จื้อเฉียง กล่าวว่า การลงทุนของจีนในประเทศไทยเพิ่ม 87% จากปีก่อน และเห็นว่าการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่สำคัญ ต้องสร้างนวัตกรรม คือนำเอาเทคโนโลยีมาเป็นฐานในการสร้างธุรกิจ ซึ่งในเรื่องนี้ไทยกับจีนร่วมมือกันได้ โดยเน้นส่งเสริมการคิดค้นเทคโนโลยีแบบใหม่ ซึ่งอาจต้องทำในรูปแบบเป็นศูนย์บ่มเพาะ (Business Incubator Center) และศูนย์วิจัยร่วมกัน 

ส่วนเรื่องของการแก้ไขความยากจนนั้น เราต้องทำเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อขยายการค้าขาย ต้องมีอุตสาหกรรมที่เหมาะสม พร้อมใช้เทคโนโลยี เครื่องมือ เครื่องจักร ช่วยเรื่องขยายการค้าขายให้ทำรายได้ มีช่องทาง E-commerce ที่ช่วยการค้าขายที่กระจัดการจายอยู่ให้ไปได้ และที่สำคัญต้องอาศัยท้องถิ่นไปช่วย 

ส่วนเรื่องการทำนิคมอุตสาหกรรม ควรเป็นนิคมอุตสาหกรรมแบบไฮเทคจะดีกว่าแบบธรรมดา ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีกันมาโดยตลอด ทางจีนยินดีสนับสนุนและเป็นสะพานเชื่อมในเรื่องความร่วมมือต่าง ๆ ให้ และมั่นใจว่าการพัฒนาแบบเปิดกว้าง คือการพัฒนาที่ดีที่สุด