เปิดต้นแบบชาร์จรถ EV จากโซลาร์เซลล์-จ่ายไฟสู่บ้านได้ แห่งแรกในอีสาน

EV ขอนแก่น

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดต้นแบบระบบชาร์จรถ EV 2 ทาง แห่งแรกในอีสาน ชาร์จไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์สู่ตัวรถได้ จ่ายไฟฟ้าสู่บ้านก็ได้ พร้อมทดลองสร้างรถโดยสารระบบไฟฟ้า 20 ที่นั่ง เปรียบเสมือนพาวเวอร์แบงก์ ชาร์จ 1 ครั้ง ราคา 157.50 บาท

วันที่ 17 พฤษภาคม 2566 รองศาสตราจารย์รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้เปิดตัวโครงการต้นแบบระบบชาร์จรถ EV แบบ V2H ที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ เป็นการศึกษาการออกแบบและพัฒนาเพื่อสร้างอาคารต้นแบบ สำหรับชาร์จประจุไฟฟ้าให้แก่รถยนต์ไฟฟ้าด้วยระบบ Chademo โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับระบบสายส่งไฟฟ้า ซึ่งนับเป็นศูนย์เรียนรู้ระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าด้วยระบบ Chademo แห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แปลงพลังงานจาก EV เป็นไฟฟ้าสำรองในครัวเรือนได้

“ในโครงการนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เพื่อดำเนินโครงการต้นแบบระบบชาร์จรถ EV แบบ V2H (Vehicle-to-Home) หมายถึง รถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถใช้เป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าให้กับบ้านหรืออาคารได้ ซึ่งเป็นฟีเจอร์พิเศษของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีความสามารถในการแปลงไฟฟ้าจากระบบขับเคลื่อนของรถเป็นไฟฟ้าที่ใช้เพื่อการใช้งานภายในบ้านหรืออาคาร 

นอกจากนี้ เรายังได้ความร่วมมือจากบริษัท Nissan Motor (Thailand) Co., Ltd. อนุเคราะห์รถยนต์ Nissan LEAF ให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ทดลองในการใช้พลังงานจากรถ EV เพื่อเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าพลังงานสำรองในครัวเรือน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินโครงการจะเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้า และเป็นประโยชน์สำหรับนักศึกษา บุคลากร และผู้สนใจต่อไป”

ขับเคลื่อนมหา’ลัยสีเขียว

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีนโยบายในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อชุมชนและสังคมโดยรอบ 

ด้วยนโยบายดังกล่าว มหาวิทยาลัยได้ดำเนินโครงการที่สำคัญหลายโครงการ เช่น โครงการอาคารต้นแบบที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building), โครงการวิจัยการนำแบตเตอรี่ที่พัฒนาและผลิตโดย ม.ขอนแก่นมาพัฒนาต่อเป็นระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Battery Energy Storage System (BESS) รวมไปถึงโครงการต้นแบบระบบชาร์จรถ EV แบบ V2H ที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์

“เชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเกิดประโยชน์ สามารถใช้เวทีแห่งนี้ในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา นอกจากนั้นผลจากการศึกษาวิจัยในโครงการจะเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้าและเป็นประโยชน์ในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้า การจัดการพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม และขยายผลไปสู่การปฏิบัติที่เพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต”

เทคโนโลยี V2H ช่วยให้รถ EV จ่ายไฟฟ้าให้กับบ้านได้

Mr.Hiroyasu Sato, President of Mitsubishi Company (Thailand) Ltd. กล่าวในนามผู้สนับสนุนทุนว่า เทคโนโลยี V2H เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการศึกษาระบบนิเวศของรถ EV ที่ช่วยให้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถจ่ายไฟฟ้าให้กับบ้านเรือนหรืออาคารได้ เชื่อว่าศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ จะไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและชุมชนในระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างอนาคตที่ยั่งยืนในระยะยาว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการให้ความรู้แก่ผู้นำและนักประดิษฐ์รุ่นต่อไป

ขณะที่อิซาโอะ เซคิกุจิ ประธาน นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) ประธาน นิสสัน ภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า นิสสันได้ผลิตนิสสัน ลีฟ สู่ตลาดโลกในปี พ.ศ. 2553 และเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ รายแรกของโลก 13 ปีต่อมา วิสัยทัศน์เกี่ยวกับการใช้พลังงานไฟฟ้าของเราแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งนิสสัน ลีฟ พร้อมเครื่องชาร์จไฟฟ้าแบบสองทิศทาง เป็นหนึ่งในรถยนต์ไฟฟ้าไม่กี่รุ่นที่สามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับทุกสิ่งได้ 

จากนวัตกรรมดังกล่าว เราจึงได้ร่วมมือกับพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นสถาบันของภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อใช้นิสสัน ลีฟ ในการช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เช่น การจัดการพลังงาน การลดก๊าซคาร์บอน และอื่น ๆ นอกจากนี้ เรายังทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาเพื่อกระตุ้นและสร้างการรับรู้ ในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป การร่วมมือระหว่างนิสสัน ประเทศไทย กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ Mitsubishi ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่มีความสำคัญ และสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมาย การสร้างสังคมที่ยั่งยืนร่วมกัน

สร้างรถโดยสาร เหมือนพาวเวอร์แบงก์ ชาร์จ 1 ครั้ง 157.50 บาท

ขณะที่ ผศ.ดร.วศกร ตรีเดช อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการต้นแบบระบบชาร์จรถ EV แบบ V2H ที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ ได้ศึกษาเกี่ยวกับการสร้างระบบนิเวศการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาคการขนส่งด้วยการออกแบบ

และสร้างรถโดยสารขนาด 20 ที่นั่ง ที่ใช้เทคโนโลยีการชาร์จประจุแบบ Chademo ภาระบรรทุกรวมน้ำหนักตัวรถ 3,400 กิโลกรัม สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 105 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในการชาร์จ 1 ครั้ง จาก 0 ถึง 100% ใช้ระยะเวลา 8 ชั่วโมง สามารถวิ่งได้ระยะทาง 155 กิโลเมตร อัตราความเร็ว 60 เฉลี่ยกิโลเมตรต่อชั่วโมง  

“ซึ่งหากคิดในอัตราค่าไฟบ้านเฉลี่ยประมาณ 5 บาทต่อหน่วย งบประมาณในการชาร์จต่อ 1 ครั้ง จะอยู่ที่ 157.50 บาท นอกจากนี้ยังสามารถแปลงพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ในรถยนต์ให้จ่ายย้อนกลับไปสู่สถานีชาร์จประจุได้ ซึ่งการชาร์จประจุสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่กับระบบไฟฟ้าของระบบสายส่ง กล่าวคือ ระบบการชาร์จประจุแบบ Chademo ทำให้รถโดยสารขนาด 20 ที่นั่ง คันนี้เสมือนหนึ่งพาวเวอร์แบงก์นั่นเอง”

ต้นแบบนำมาจากวิกฤตโรงไฟฟ้าญี่ปุ่น

ผศ.ดร.วศกรกล่าวต่อว่า ระบบชาร์จตัวนี้มีที่มาจากวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้าของญี่ปุ่น ที่ส่งผลให้เมืองที่อยู่รอบ ๆ ไฟฟ้าดับ ญี่ปุ่นจึงพัฒนาระบบนี้ขึ้นมา กรณีประชาชนต้องการระบบไฟฟ้าก็สามารถใช้รถของตนเองแปลงพลังไฟฟ้าย้อนกลับ สามารถดึงไฟออกจากรถเพื่อเอามาใช้งาน

“ฉะนั้นระบบชาร์จ Chademo จึงมีข้อดี คือ เป็นระบบ 2 ทิศทางสามารถชาร์จไฟฟ้าจากระบบสายส่ง หรือโซลาร์เซลล์เข้าสู่ตัวรถได้ และสามารถปล่อยแรงดันไฟฟ้าย้อนกลับคืนจากตัวรถย้อนไปสู่ตัวบ้านเพื่อเอาไว้ใช้งานได้”