ใครประมูลได้ ที่ดิน ม.เอเชียน จะกลายเป็นมิกซ์ยูสใหม่ในชลบุรี หรือไม่

มหาวิทยาลัยเอเชียน
เครดิตภาพ: เฟสบุ๊คเพจ Asian University

QA จัดประมูลที่ดินมหาวิทยาเอเชียน ที่ดินที่มีศักยภาพเหมาะสำหรับการพัฒนาทำโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ หรือสำหรับซื้อลงทุน เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจโครงการ EEC

วันที่ 16 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (AREA) ในนามของกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้ อ๊อกชั่น จำกัด (QA) ผู้จัดประมูลที่พร้อมสิ่งปลูกสร้างมหาวิทยาเอเชียน ได้กำหนดการยื่นซองประมูลราคาในวันพุธที่ 31 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ตอนนี้ยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการถึงผู้ที่ทำการประมูลที่ดินผืนนี้ได้

ทั้งนี้ มหาวิทยาเอเชียน ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ที่ดินแปลงดังกล่าวข้างต้นมีศักยภาพเหมาะสำหรับการพัฒนาทำโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบหรือสำหรับซื้อลงทุน เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development : ECC) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การเสนอขายที่ดินแปลงดังกล่าวนี้ทางบริษัท อิมพีเรียล เทคโนโลยี แมเนจเม้นท์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้แต่งตั้งให้ QA ใช้วิธียื่นซองประมูลราคาในการขาย โดยมีเงื่อนไขโฉนดมีหลายแปลง แต่การเคาะซื้อต้องเสนอราคาแบบซื้อทั้งลอตรวม 410-0-83.3 ไร่

ย้อนดูตำนาน ม.เอเชียน

มหาวิทยาลัยเอเชียน เดิมชื่อมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเอเชีย มี ดร.วิพรรธ์ เริงพิทยา อดีตนักเรียนเก่าอังกฤษ เป็นผู้ก่อตั้งเมื่อปี 2536 และเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยคนแรก โดยการลงนามในเอกสารความร่วมมือระหว่างลอร์ด โรนัลด์ ออกซเบิร์ก อธิการบดีแห่งวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการแพทย์ อิมพีเรียล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และมีนายอานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งประธานสภามหาวิทยาลัย

วัตถุประสงค์การสร้างแห่งนี้คือ ต้องการมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพการสอนเทียบเท่ากับในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ที่สำคัญต้องพูดภาษาอังกฤษเก่งเหมือนเรียนจบจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ได้เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2541 เป็นต้นมา ในระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี บริหารธุรกิจบัณฑิต วิทยาศาสตรบัณฑิต และศิลปศาสตรบัณฑิต

ทุกหลักสูตรสอนเป็นภาษาอังกฤษ มีนักศึกษาทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และมีคณาจารย์ไทยและต่างชาติวุฒิปริญญาเอกหรือเทียบเท่าจากประเทศอังกฤษ แคนาดา เยอรมนี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ต่อมาในปี 2558 บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด เข้ามาถือหุ้นใหญ่ และมีการเพิ่มทุนฟื้นฟูมูลค่า 400 ล้านบาท โดยมีบริษัท ไอทีเอ็มเอส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก เป็นเจ้าของผู้ถือใบอนุญาตจัดตั้ง มี ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย และมี ศ.ดร.วิลาศ วูวงศ์ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย พร้อมกับมีการปรับหลักสูตร และรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ โดยข้อมูลจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยในขณะนั้นระบุค่าหน่วยกิต 200,000 บาทต่อปี ค่าหอพักและค่าครองชีพ 100,000 บาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม 2 ปีต่อมา สภามหาวิทยาลัยเอเชียนได้แจ้งความประสงค์ต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ประเทศไทย) หรือ สกอ. ขอเลิกดําเนินกิจการมหาวิทยาลัยเอเชียนหลังเปิดทำการเรียนการสอนมานานกว่า 19 ปี

ซึ่งคณะกรรมการการอุดมศึกษาในการประชุมครั้งที่ 8/2560 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 พิจารณาแล้วเห็นชอบให้คําแนะนํารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีคําสั่งให้เลิกกิจการมหาวิทยาลัยเอเชียนได้ โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546

และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยคําแนะนําของคณะกรรมการการอุดมศึกษา จึงมีคําสั่งให้เลิกกิจการมหาวิทยาลัยเอเชียน ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2560 สั่ง ณ วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2560 ลงชื่อ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในเวลานั้น

ราคาประเมิน 1,139 ล้านบาท

ราคาประเมิน ณ วันที่ 26 มกราคม 2566 ซึ่งได้ประเมินโดย AREA ประเมินไว้ที่ราคา 1,139,570,000 บาท โดยเริ่มประมูลราคาแบบไม่มีราคาขั้นต่ำ สำหรับท่านผู้สนใจประสงค์ซื้อกำหนดราคาได้

ในด้านราคา เฉพาะราคาที่ดิน 783 ล้านบาท ที่เหลือเป็นอาคารมูลค่าอีกราว 300 ล้านบาท ในราคานี้ได้ตัดที่ดินออก 18 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินที่จะก่อสร้างถนนเวนคืนโดยเป็นถนนใหญ่ 16 เมตร ผ่านตลอดแนวแล้วด้วย กรณีนี้เป็นการเพิ่มศักยภาพของที่ดินแปลงนี้ ตรงบริเวณนี้ผังเมืองเป็นสีส้ม EEC ทำจัดสรรที่อยู่อาศัยได้ พาณิชยกรรมได้

ที่ดิน ม.อาเซียน เหมาะใช้ประโยชน์อะไร

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย เผยว่า ที่ดินมหาวิทยาลัยเอเชียน ไม่เหมาะกับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ยกเว้นเป็นอุทยานวิทยาศาสตร์ และเหมาะพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย และอื่น ๆ

ที่ผ่านมามีข่าวว่าผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมบอกว่าแพงไป ดร.โสภณ กล่าวว่า แปลงที่ดินที่จะประมูลมีศักยภาพสูง ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งตามแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน แผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค พ.ศ. 2562 แปลงที่ดินนี้ตั้งอยู่ในเขตที่ดินประเภท ม. (สีส้ม)

ให้เป็นที่ดินประเภทชุมชนเมือง มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้เป็นชุมชนเมือง รองรับการขยายตัวของศูนย์กลางพาณิชยกรรมหลักและศูนย์กลางหลักระดับอำเภอ รองรับการพัฒนาที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และบริการขั้นพื้นฐานของจังหวัด มีโครงการตัดถนนใหม่ผ่านที่ดินแปลงนี้ เป็นการเพิ่มศักยภาพ โดยที่ดินที่จะถูกตัดถนน ได้ตัดออกไปก่อนประมูลแล้ว

แปลงที่ดินยังตั้งอยู่ใกล้แนวรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง เป็นโครงการที่เชื่อมต่อ 3 ท่าอากาศยานในเขตกรุงเทพมหานครและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คือท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางระหว่างท่าอากาศยานเข้าสู่เขตเมืองและเขตธุรกิจได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ดังนั้น จึงเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นเมืองใหม่มากกว่าใช้ประโยชน์เพื่อการอุตสาหกรรม

“ดังนั้น แปลงที่ดินนี้จึงมีศักยภาพสูงในพัฒนาเมืองใหม่ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง รวมถึงที่อยู่อาศัยและสาธารณูปการสำหรับคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง ที่จะเติบโตในอนาคต มากกว่าการนำไปพัฒนาด้านนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งศักยภาพของแปลงที่ดินสามารถพัฒนาได้แบบมิกซ์ยูส (mixed-use) เพื่อเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างขึ้นเพื่อการอยู่อาศัยและพาณิชกรรมในพื้นที่เดียวกัน

ภายในพื้นที่โครงการสามารถสร้างได้ ดังนี้

  • โครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ ประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์
  • คอนโดมิเนียม
  • โรงแรม
  • อพาร์ตเมนต์
  • อาคารสำนักงาน
  • ศูนย์การค้า หรือคอมมิวนิตี้มอลล์
  • ตลาดสด/ตลาดนัด
  • สถานีบริการน้ำมัน
  • สถานีขนส่งผู้โดยสาร
  • โรงเรียน
  • พื้นที่ retail ให้เช่าอื่น ๆ