นิด้ายัน ยังใช้สิทธิในที่ดินสีคิ้ว สอนปริญญาโท-เอก ไม่ได้ปล่อยทิ้งร้าง

NIDA

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ยันยังคงใช้สิทธิในที่ดิน อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา สอนนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก และพัฒนาผู้นำในภาครัฐและเอกชน ไม่ได้ปล่อยทิ้งร้าง

วันที่ 29 สิงหาคม 2566 รศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีการรายงานว่าพื้นที่ของนิด้า อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ถูกปล่อยทิ้งร้างไม่มีการใช้ประโยชน์มาหลายปี จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่านิด้ายังคงใช้สิทธิในที่ดินสีคิ้ว กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติให้นิด้าใช้ที่ดิน ณ บ้านคลองตะแบก หมู่ที่ 5 ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เปิดทำการเรียนการสอนระดับปริญญาโท-เอก และฝึกอบรมผู้นำ ผู้บริหารท้องถิ่น ทั้งภาครัฐและเอกชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536

โดยมีการก่อสร้างอาคารเรียน 2 หลัง จากการระดมเงินทุนโดยหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร (สมเด็จพระญาณวชิโรดม) งบประมาณแผ่นดิน และเงินรายได้ของนิด้า ซึ่งเปิดทำการสอนสาขารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต และสาขาการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนมหาบัณฑิต ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ. 2563 อีกทั้งได้เปิดอบรมหลักสูตรสำหรับผู้นำผู้บริหารท้องถิ่นตามวัตถุประสงค์ของการใช้พื้นที่มาโดยตลอด

NIDA

รศ.ดร.อัศวินกล่าวว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ทางผู้บริหารนิด้ามีนโยบายอำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียน จึงย้ายไปเปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียนสุรนารีวิทยา 2 อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และในขณะเดียวกันได้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง นิด้าได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่สีคิ้วและบริเวณใกล้เคียง จึงอนุญาตให้ใช้พื้นที่ศูนย์การศึกษาสีคิ้วเป็นโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยง จนถึงปี พ.ศ. 2565

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นิด้าไม่ได้ละทิ้งศูนย์การศึกษาสีคิ้ว โดยจัดสรรงบประมาณจ้างบุคลากรและดูแลบำรุงรักษาพื้นที่มาโดยตลอด

“นิด้ายังคงใช้พื้นที่ศูนย์การศึกษาสีคิ้วในการจัดการเรียนการสอนเช่นเดิม โดยมีแผนพัฒนาการศึกษาการพัฒนาผู้นำและชุมชนสีคิ้วอย่างยั่งยืน เช่น เปิดหลักสูตรปริญญาโทในสาขาการจัดการการท่องเที่ยว การพัฒนาสังคม และการจัดการสิ่งแวดล้อม และโครงการอบรมต่าง ๆ เช่น โครงการอบรมชาวบ้านในการปลูกหญ้าแฝกเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน

โครงการอบรมผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน สร้างรายได้อย่างยั่งยืนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและช่องว่างระหว่างโลกธุรกิจกับประโยชน์ทางสังคม โดยร่วมมือกับศูนย์ยูนุส (YUNUS Center) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งมีโครงการการอบรมการทำเกษตรกรรมแบบ smart-farming โดยร่วมมือกับภาคเอกชน และโครงการอบรมเพิ่มศักยภาพการดูแลตนเองและครอบครัวของผู้สูงอายุเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นต้น” รศ.ดร.อัศวินกล่าว

NIDA

 

NIDA