ศธ.ชี้ระเบียบลงโทษนักเรียนมีแค่ 4 สถานเท่านั้น ห้ามครูใช้ความรุนแรง

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ

กระทรวงศึกษาธิการชี้ ระเบียบลงโทษนักเรียนมีแค่ 4 สถานเท่านั้น ครูห้ามลงโทษเด็กรุนแรง ต้องปฏิบัติตามเคร่งครัด

วันที่ 30 มกราคม 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีครูลงโทษเด็ก ศธ.มีกฎระเบียบการลงโทษนักเรียนอย่างชัดเจนอยู่แล้ว จากระเบียบและกฎกระทรวงศึกษาธิการ 3 ฉบับ เกี่ยวกับการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา และการกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2548 และมีการปรับปรุงเพิ่มเติมในปี 2562 โดยสาระสำคัญคือ นักเรียนต้องไม่ประพฤติตนไม่เหมาะสม เช่น หนีเรียน เล่นการพนัน พกพาอาวุธ เสพสิ่งมึนเมาหรือยาเสพติด ลักทรัพย์ ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น พฤติกรรมทางชู้สาวอันไม่เหมาะสม ค้าประเวณี เที่ยวเตร่ มั่วสุมอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น เป็นต้น

ส่วนการลงโทษนักเรียนที่กระทําความผิด ทำได้ 4 สถานเท่านั้นคือ 1.ว่ากล่าวตักเตือน 2.ทําทัณฑ์บน 3.ตัดคะแนนความประพฤติ และ 4.ทํากิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

“ศธ.ขอยืนยันว่า เราไม่เห็น​ด้วยกับการลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง ห้ามลงโทษด้วยความโกรธ หรือใช้วิธีแปลกไปจากระเบียบโดยเด็ดขาด ซึ่งการลงโทษต้องคำนึงถึงอายุและความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบด้วย

ทั้งนี้ การกำหนดให้มีบทลงโทษนั้น เป็นไปด้วยเจตนาที่จะแก้นิสัยและความประพฤติไม่ดี ให้รู้สำนึกในความผิด และกลับมาประพฤติตนในทางที่ดีต่อไป ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่อสหประชาชาติด้วย” โฆษก ศธ.กล่าว

นายสิริพงษ์กล่าวต่อว่า นอกจากกรณีนี้แล้ว อาจจะยังมีครูที่ลงโทษนักเรียนด้วยวิธีที่นอกเหนือจากระเบียบ ศธ.อยู่ จึงขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า ศธ.ไม่ยอมรับการกระทำรุนแรงต่อกันทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นฝ่ายครูหรือนักเรียนก็ตาม ตลอดจนฝากผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และครู เข้มงวดเรื่องการลงโทษนักเรียนให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงอย่างเคร่งครัดด้วย ทุกคนต้องช่วยกันสร้างสถานศึกษาให้เป็นที่ปลอดภัย บ่มเพาะเยาวชนทั้งด้านวิชาการและคุณธรรมจริยธรรม ประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเยาวชน และต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลงโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรงอย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นอีก