ไทยพาณิชย์ ร่วม Google พัฒนาหลักสูตรดิจิทัลแก่นักศึกษาธรรมศาสตร์

ธรรมศาสตร์ ไทยพาณิชย์

ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Google พัฒนาหลักสูตรด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ติดอาวุธนักศึกษาธรรมศาสตร์ก้าวเข้าสู่โลกการทำงานยุคปัจจุบัน ด้วยทักษะ Digital Marketing, e-Commerce, Fintech, Blockchain เป็นต้น ที่ออกแบบและรับรองโดย SCB Academy และ Google 

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 นายวรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารเห็นความจำเป็นในการพัฒนาบุคลากรจึงตั้ง SCB Academy ขึ้นมา โดยได้ริเริ่มโครงการในการพัฒนาบุคลากรหลายโครงการ ทั้งพนักงานภายในและประชาชนทั่วไป เพื่อปรับเปลี่ยนและพัฒนาทั้งชุดความคิด (Mindset) ความรู้ และทักษะให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ วิถีการทำงานในรูปแบบใหม่ที่มีส่วนในการสร้างผลกระทบเชิงธุรกิจ

ขณะเดียวกันก็ยังต้องหมั่นฝึกฝนและพัฒนาทักษะของบุคลากรที่จะไม่หยุดนิ่ง แต่ต้องมีการ Upskill หรือ Reskill ติดอาวุธเพื่อให้ปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ตลอดเวลา

ปัจจุบัน SCB Academy ได้ดำเนินโครงการ A FAST ซึ่งมุ่งที่จะพัฒนา 4 ทักษะสำคัญที่คนจำเป็นต้องมีในโลกยุคปัจจุบัน ได้แก่ 1.ทักษะด้านดิจิทัล (Digital Skill) 2.ทักษะการรู้จักตนเอง (Self Mastery) ความสามารถในการบริหารความคิด วางแผนชีวิตตนเอง 3.ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) 4.ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Team Collaboration)

นอกจากนี้แล้วในส่วนขององค์กรหากต้องการประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน ก็จะต้องสร้างให้เป็น Learning Organization ที่ทุกคนในองค์กรมีความตื่นตัว พร้อมเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ตลอดเวลา

ไม่เพียงทักษะบุคลากรของเราเองเท่านั้น แต่เรายังอยากส่งต่อประสบการณ์และบทเรียนต่าง ๆ อันมีคุณค่าเหล่านี้ให้กับสังคม โดยมีความตั้งใจที่จะนำทั้งหลักสูตร วิธีการ และกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้น ส่งมอบให้กับภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะทุนมนุษย์ของประเทศให้รองรับและทันกับโลกอนาคต นายวรวัจน์ กล่าว

นายวรวัจน์กล่าวอีกว่า ความร่วมมือกับธรรมศาสตร์ (มธ.) ในครั้งนี้ เป็นหลักสูตรที่ทำร่วมกับ Google ให้นักศึกษาและผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปเรียนและได้รับ Certificate รับรองจาก Google ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนที่จบออกไปเป็นที่ยอมรับในโลกของการทำงานได้ทันที

ถือเป็นจุดเริ่มต้นอันดีของความร่วมมือระหว่างสององค์กร บนวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่ต่างเห็นความสำคัญในการพัฒนาทักษะทุนมนุษย์ของประเทศ ซึ่งเชื่อว่า มธ. เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ล้ำสมัยที่สุดในเรื่องนี้ และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมกันสร้างผลกระทบเชิงบวกเพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกอนาคตต่อไป

ธรรมศาสตร์เน้นเรียนรู้ตลอดชีวิต

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า การลงนามที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ยังจะทำให้ มธ. ถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรก ๆ ที่ได้ร่วมจัดทำหลักสูตรกับหน่วยงานชั้นนำของประเทศอย่าง SCB Academy และหน่วยงานชั้นนำระดับโลกอย่าง Google ทั้งยังจะเป็นแห่งแรก ๆ ที่มีระบบ Credit Bank ซึ่งทำให้การเรียนออนไลน์ไม่ใช่เพียงแค่การเรียนเสร็จแล้วจบไป แต่สามารถนำ e-Certificate ที่ได้รับ เก็บไว้เป็นเครดิตเพื่อนำไปต่อยอดการเรียนในมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นต้นแบบให้กับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในประเทศไทยสามารถพัฒนาระบบการเรียนการสอนเพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ในโลกอนาคตได้ด้วยเช่นเดียวกัน

ด้าน ศ.ดร.นพ.รัฐกร วิไลชนม์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ SCB Academy ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในการร่วมกันจัดหลักสูตรการเรียนรู้รูปแบบออนไลน์ สำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยและบุคคลทั่วไป ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะกำลังคนดิจิทัล เพื่อสร้างอนาคตแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน

สำหรับความร่วมมือระหว่าง มธ. กับ SCB Academy ครั้งนี้ ได้มีการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ Digital Marketing & e-Commerce เทคโนโลยี Fintech & Blockchain ตลอดจนทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานในโลกดิจิทัลยุคปัจจุบัน ขณะเดียวกันภายใต้ความร่วมมือกับ SCB Academy นี้ยังมี Google เป็นพาร์ตเนอร์สำคัญ ที่จะช่วยออกแบบการเรียนรู้ให้นักศึกษาสามารถนำไปประกอบอาชีพ พัฒนาต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ และมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ต่อไปในอนาคต

วัตถุประสงค์หลักของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือการสนับสนุนให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต พร้อมทั้งยังส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ที่ข้ามศาสตร์ หรือการมีความรู้มากกว่า 1 แขนง เพื่อตอบโจทย์ให้เข้ากับโลกของการทำงานในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการมีความรู้ที่รอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะในด้านเศรษฐกิจยุคดิจิทัล จะช่วยให้นักศึกษามีความโดดเด่น และมีความสามารถในการประกอบอาชีพได้มากกว่าผู้อื่น

เก็บเป็น Credit Bank มีใบรับรอง

รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การลงนามดังกล่าว ทาง มธ. ได้นำหลักสูตรจาก SCB Academy กับ Google มาเป็นหนึ่งในรายวิชาของนักศึกษา มธ. ที่สามารถเลือกเข้าเรียนเมื่อไรก็ได้ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งภายหลังเรียนจบหากประเมินความรู้ผ่าน นักศึกษาก็จะได้รับประกาศนียบัตร (e-Certification) พร้อมกันนั้นยังมีระบบ Credit Bank ที่นักศึกษาสามารถจัดเก็บการเรียนรายวิชาเหล่านี้ไว้เป็นเครดิต เพื่อนำมาใช้ประกอบการศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาไม่ต้องเรียนในบางรายวิชา รวมถึงสามารถจบการศึกษาได้เร็วขึ้น

“การเรียนรู้ในยุคปัจจุบันเราเรียกว่า Anywhere, Anytime, Any Devices หมายความว่าเราสามารถเรียนรู้เมื่อไรก็ได้ เวลาไหนก็ได้ ผ่านอุปกรณ์อะไรก็ได้ ทำให้ในบางรายวิชานักศึกษาอาจไม่จำเป็นต้องเข้าไปในชั้นเรียน แต่สามารถเลือกเรียนผ่านออนไลน์ได้

รศ.ดร.พิภพ กล่าวอีกว่า ด้วยทิศทางของ มธ. ที่มุ่งเน้นในเรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมองเห็นความสำคัญของการศึกษาออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทกับการเรียนการสอนในปัจจุบันมากขึ้น ดังนั้น ทาง มธ. จึงไม่ได้ตอบโจทย์เพียงแค่นักศึกษาของทางมหาวิทยาลัยเองเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์ไปถึงกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มนักเรียนมัธยมผู้ที่จะเข้ามาเป็นนักศึกษาในอนาคต ผู้คนในวัยทำงาน ตลอดจนผู้สูงวัย โดยเฉพาะในอนาคตที่เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น จึงเป็นหน้าที่สำคัญของมหาวิทยาลัยที่ต้องตอบโจทย์การศึกษาตลอดชีวิต หรือ Life Long Learning

“ดังนั้นไม่ว่าใครก็เรียนได้ ไม่ว่าเป็นนักเรียนมัธยม คนวัยทำงาน หรือกระทั่งคนที่อยู่ในวัยเกษียณ เพราะการเรียนการสอนออนไลน์จะช่วยให้คนไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาได้เฉพาะเพียงในมหาวิทยาลัยอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจเข้ามาเรียนออนไลน์เฉพาะในบางวิชาที่จำเป็น เป็นการ Up-Skill หรือ Re-Skill

และได้องค์ความรู้ที่สามารถกลับไปพัฒนาการทำงานในปัจจุบันได้ โดยไม่ต้องเสียเวลามากเกินไป เข้ามาเรียนรู้เฉพาะสิ่งที่จำเป็น และสามารถกลับไปต่อยอด พัฒนาการทำงานได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งนี่เป็นสิ่งสำคัญในโลกยุคปัจจุบันที่ มธ. มุ่งตอบโจทย์และให้ความสำคัญ”