“มหิดล” พร้อมสู่มหา’ลัยโลก แปรรูปงานวิจัยสู่นวัตกรรมธุรกิจ

ด้วยเป้าหมายที่จะก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกภายในปี 2573 มหาวิทยาลัยมหิดลจึงผลักดัน และขับเคลื่อนนโยบายของมหาวิทยาลัยให้สอดรับกับความเป็นมหาวิทยาลัยในระดับ World Class University ด้วยการพัฒนาบุคลากร, พัฒนางานวิจัย, นวัตกรรมต่าง ๆ ให้ออกสู่สาธารณะเพื่อสร้างความคล่องตัวทั้งในด้านการเงิน และการบริหารงาน ตามโจทย์ที่วางไว้สำหรับอนาคต

“ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร” อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อกล่าวถึงความเป็นผู้ประกอบการ เรามักนึกถึงผู้ประกอบการทำธุรกิจ แต่ที่จริงแล้ว แนวคิดการเป็นผู้ประกอบการควรมีอยู่ในทุกแห่ง เพราะความเป็นผู้ประกอบการ ไม่ว่าเขาจะอยู่ในองค์กรใดจะสร้างความเปลี่ยนแปลง และสร้างประโยชน์ให้กับเขา และองค์กรเหล่านั้นเอง

“ในระดับมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน หลายครั้งที่งานวิจัยไม่ได้ไปต่อ หรือบางคราวที่พบว่าแนวความคิดของนักศึกษานั้น น่าสนใจมาก แต่ไม่มีโอกาสต่อยอด ทั้งนั้นอาจด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ดังนั้นหากมหาวิทยาลัยมีการนำองค์ความรู้ทางด้านผู้ประกอบการมาบรรจุ และบูรณาการลงไปในหลักสูตรการเรียนการสอน, การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำงาน, การต่อยอดของสตาร์ตอัพ ก็จะเป็นการสร้างความเป็นผู้ประกอบการให้แก่ผู้เรียน อันจะส่งผลไปสู่ระดับเศรษฐกิจประเทศ และระดับโลกในที่สุด”

ผลเช่นนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลจึงมีการเตรียมการเพื่อก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีแนวคิดของการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial University) โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐถึง 670 ล้านบาท ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ โดยผ่านยุทธศาสตร์ 5 ข้อ ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่ระดับโลก

Advertisment

หนึ่ง ยุทธศาสตร์บูรณาการด้านการเรียนการสอน เพื่อมุ่งเน้นการสร้างทักษะการเป็นผู้ประกอบการ พัฒนา และปรับปรุงหลักสูตรด้านทักษะความเป็นผู้ประกอบการที่ครอบคลุมวงจรผู้ประกอบการ โดยบรรจุวิชา Entrepreneurial Education สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่จะได้เรียนทุกคน เพื่อสร้างความรู้พื้นฐานด้านความเป็นผู้ประกอบการ โดยจะเริ่มเรียนในเดือนสิงหาคมปีการศึกษา 2561

สอง ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงสหวิทยาการ พัฒนากิจกรรม เพื่อสนับสนุนการสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัย คณาจารย์ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน ในการทำวิจัยที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหา และยกระดับสังคม เศรษฐกิจ

สาม ยุทธศาสตร์การสร้างเครือข่ายและชุมชนนวัตกรรม เพื่อมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายที่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในศิษย์เก่า องค์กรภาครัฐ และชุมชนเพื่อสนับสนุน ค้นหาผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การสร้างเครือข่าย Mentors, Experts และ Investors

สี่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ และนวัตกรรม ผ่านการทำกิจกรรม การเพิ่มทักษะความรู้ต่าง ๆ

Advertisment

ห้า ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพื้นที่สร้างสรรค์ เพื่อมุ่งเน้นการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน และกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรม โดยมีกิจกรรมรองรับ โดยเฉพาะการตั้งเป็น Innovation Space

“ศ.คลินิก นพ.อุดม” กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ Innovation Space จะมีอยู่ทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ วิทยาเขตพญาไท, วิทยาลัยนานาชาติ วิทยาเขตศาลายา, คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาเขตศาลายา, อาคารเจรจานวัตกรรม คณะวิทยาศาสตร์ วิทยาเขตศาลายา และศูนย์พัฒนาเครื่องมือแพทย์ และนวัตกรรมทางสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยจะดำเนินการร่วมกันกับคณะวิศวกรรมศาสตร์

“Innovation Space ทั้ง 5 แห่ง คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปีนี้ และแต่ละแห่งจะอำนวยความสะดวกด้านเครื่องมือ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ ที่โดดเด่นแตกต่างกันไป แต่มีความครบวงจร สะดวกสำหรับเอกชน และชุมชนที่จะเข้ามาเพื่อติดต่อพูดคุย หรือใช้งานต่าง ๆ ได้”

“นอกจากนั้น Innovation Space ทั้ง 5 แห่ง ใช้งบประมาณกว่า 200 ล้านบาท สำหรับส่วนอาคารเจรจานวัตกรรมใช้งบประมาณ 46 ล้านบาท ในการก่อสร้างซึ่งมีพื้นที่ 14,000 ตร.ม. ที่นอกจากจะเป็นอาคารพื้นที่เปิดสำหรับเอกชนที่ต้องการต่อยอดงาน ต้องการเป็นที่ปรึกษา, นักวิจัย และเข้ามาเจรจาในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงชุมชนที่ต้องการเรียนรู้นวัตกรรม หรือเอกชนที่ต้องการร่วมทุนในงานวิจัย หรือสตาร์ตอัพของมหาวิทยาลัย ก็สามารถมาเจรจาเพื่อร่วมทุนที่นี่ได้”

“โดยผ่าน Pre Seed Fund ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อร่วมทุนในผลงาน, นวัตกรรมที่มีโอกาสต่อยอดในเชิงพาณิชย์ของนักศึกษา”

ส่วนด้านการบริหารจัดการ มีการจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (INNOTECH) เพื่อเป็นสถาบันส่งเสริมการทำงานของนวัตกร และสตาร์ตอัพ โดยสถาบันแห่งนี้ตั้งมาแล้วกว่า 1 ปี เพื่อดูแลการเงิน, การหาแหล่งเงินทุน Funding ต่าง ๆ ทั้งภายในมหาวิทยาลัย และภายนอก รวมไปถึงด้านกฎหมายการจดทะเบียนสิทธิบัตร,จดลิขสิทธิ์นวัตกรรมต่าง ๆ รวมถึงเป็นผู้ดูแล และหาพี่เลี้ยงให้อีกด้วย จึงนับว่าเป็นการปรับตัวของมหาวิทยาลัย เพื่อลบภาพสถาบันการศึกษาที่เป็นเพียงผู้ให้ความรู้ด้านวิชาการ แต่นับจากนี้มหาวิทยาลัยจะมีทั้งองค์ความรู้ด้านสหวิชาการ การดำเนินธุรกิจ และการลงทุนในธุรกิจที่มีอนาคต

ที่ไม่แต่จะมีงานวิจัยเพื่อให้อยู่บนหิ้งอีกต่อไป

 

คิดค้นเพื่อต่อยอด

“ALERTZ” อุปกรณ์ช่วยเตือนการหลับในขณะขับรถ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อตรวจจับก่อนเกิดอาการหลับใน โดยวัดผลจากคลื่นความถี่ในสมอง โดยเครื่องจะมีการสั่น เพื่อแจ้งเตือนคนขับล่วงหน้า ลักษณะการใช้งาน ผู้ใช้จะต้องสวมสายคาดศีรษะ ซึ่งมีเซ็นเซอร์วัดสัญญาณสมองบริเวณหน้าผาก ปัจจุบันมีเอกชนติดต่อเพื่อร่วมลงทุน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้ประกอบการด้านขนส่งมวลชนต่าง ๆ

“DNA ดีเอ็นเอชิป” สำหรับตรวจคัดกรองเชื้อจุลชีพก่อโรคในอาหาร สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจด้านอาหารที่ต้องควบคุมคุณภาพอาหารที่ผลิต จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 3-5 วัน แต่นวัตกรรมชิ้นนี้จะช่วยย่นระยะเวลาการตรวจลงเหลือ 3 ชม. ทั้งยังตรวจได้ถึง 50 ตัวอย่างในชิปเดียว

นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมอื่น ๆ ที่กำลังรอการต่อยอด ทั้งนวัตกรรมด้านวิศวกรรมศาสตร์ การแพทย์ และเพื่อชุมชนในลำดับต่อไป